รีเซต

ทำความรู้จัก! งูกะปะ งูพิษร้ายแรงสุดอันตรายในไทยที่ต้องระวัง

ทำความรู้จัก! งูกะปะ งูพิษร้ายแรงสุดอันตรายในไทยที่ต้องระวัง
TeaC
13 ธันวาคม 2564 ( 19:31 )
16.6K

ข่าววันนี้ รู้หรือไม่? ทุก ๆ 5 นาที จะมีคนเสียชีวิตจากการถูกงูกัด หรือเป็นผู้พิการถาวร หรือได้รับบาดเจ็บอย่างหนักจากพิษรุงแรงจากงูมีพิษ และ "งูกะปะ" งูพิษที่มีพิษร้ายแรงกัดเด็กหญิงวัยเพียง 10 ขวบ จนต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อเร่งระบายแรงดันบริเวณมือ ให้เลือดไปเลี้ยงนิ้วมือได้ จนต้องขอรับบริจาคเลือดอย่างเร่งด่วน ซึ่งงูชนิดนี้มีพิษที่รุนแรงมาก วันนี้ TrueID จะพาไปทำความรู้จัก "งูกะปะ" ที่ต้องระวัง และเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด 

 

ทำความรู้จัก! งูกะปะ งูพิษร้ายแรง 

 

ชื่อของ งูกะปะ 

มีชื่อภาษาไทย งูกะปะ  หรือ Malayan pit viper
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calloselasma rhodostoma

 

งูกะปะ งูพิษที่มีพิษร้ายแรง

เป็นงูพิษที่มีพิษรุนแรงมากมีผลต่อ ระบบเลือด จัดเป็นงูเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Calloselasma โดยไม่มีชนิดย่อย ที่อยู่ในวงศ์งูแมวเซา (Viperidae)

 

งูกะปะ มีลักษณะอย่างไร?

ลักษณะของงูกะปะ มีความยาวเต็มที่ประมาณ 1 เมตร ส่วนหัวเป็นรูปสามเหลี่ยม คอเล็ก ลำตัวอ้วน หางเรียวสั้น มีลายเป็นรูปเหมือนหลังคาบ้านอยู่ด้านข้างตลอดลำตัว มีสีเทาอมชมพูลายสีน้ำตาลเข้ม เกล็ดมีขนาดใหญ่ จะงอยปากงอนขึ้นข้างบน หากินเวลาพลบค่ำและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลาที่มีความชื้นในอากาศสูง เช่น หลังฝนตก 

 

งูกะปะ อาศัยที่ไหน?

งูกะปะ จะชอบอาศัยในดินปนทรายที่มีใบไม้หรือเศษซากไม้ทับถมกันเพื่อซ่อนตัว เช่น สวนยางพาราหรือสวนปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสีสันและลวดลายของงูกะปะมักพรางตัวเก่งทำให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม เป็นงูที่ไม่ปราดเปรียว เวลาตกใจจะงอตัวหรือขดนิ่ง แต่ฉกกัดรวดเร็วมาก สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค แต่จะพบมากที่สุดในภาคใต้

 

การขยายพันธุ์

งูกะปะ จะกินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู, นก หรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก ออกไข่ครั้งละ 10–20 ฟอง สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ทุกฤดูกาล ในตัวที่มีสีคล้ำเรียกว่า "งูปะบุก"

 

งูกะปะกัด อาการเป็นอย่างไร?

หากถูกงูกะปะกัด มีอาการทั่วไป และอาการเฉพาะที่ ที่สามารถสังเกตได้ดังนี้

 

  1. อาการทั่วไป : มีโลหิตตามอวัยวะต่าง ๆ ในราว 3 ชั่วโมง ผิวหนังมีเลือดออกเป็นรอยคล้ำ เลือดออกทางเดินอาหาร เลือดออกตามไรฟัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากความดันโลหิตต่ำ

  2. อาการเฉพาะที่ : อาการปวดมีน้อย โดยภายใน 10 นาทีหลังงูกัด บริเวณรอบแผลจะบวมขึ้นย่างรวดเร็วจนกระทั่งแขนหรือขาข้างนั้นบวมไปหมดภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนรอยเขี้ยวจะมีเลือดไหลตลอดเวลา ขณะที่ บริเวณแขนขาที่บวมจะมีสีเขียวคล้ำ ผิวหนังเกิดพองตอนแรกมีน้ำใสต่อมาภายหลังมีเลือด และภายหลังถูกกัดไม่กี่วันรอยเขี้ยวจะเกิดการเน่า

 

และหากใครที่โดนกัดจะเสียชีวิตได้จากความดันโลหิตต่ำ ซึ่งความดันโลหิตต่ำ เกิดจากการเสียเลือดนั่นเอง ดังนั้น เมื่อถูกงูกัด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยวิธีตามนี้

 

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

  1. ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน ขี้เถ้าทาแผล หรือสมุนไพรใด ๆ
  2. บีบเลือดออกจากแผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรใช้ปากดูดหรือเปิดปากแผลด้วยของมีคม
  3. การรัด ควรรัดเหนือและใต้บาดแผลประมาณ 3 นิ้วมือ ไม่ควรรัดเหนือบาดแผลให้แน่นมาก เพราะจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดและเน่าตาย ควรคลายความแน่นพอสอดนิ้วมือได้ 1 นิ้ว จุดประสงค์เพื่อให้อวัยวะนั้นอยู่นิ่ง ไม่ใช่เป็นการห้ามพิษเข้าสู่หัวใจตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไม่ถูกต้อง
  4. ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือดด้วยการกดแผลโดยตรง  ถ้าสามารถใช้แอลกอฮอล์หรือเบต้าดีนทาแผลได้ก็จะเป็นผลดีต่อการทำลายเชื้อโรคต่างๆ
  5. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด 
  6. วางอวัยวะส่วนนั้นให้ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับหัวใจ
  7. รับประทานยาแก้ปวดหากรู้สึกปวด แต่ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์ ยาระงับประสาท ยานอนหลับ  ยาดองเหล้า  เป็นต้น
  8. รีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลใกล้บ้าน 
  9. ให้ระลึกเสมอว่างูที่กัดทุกตัวเป็นงูมีพิษ ห้ามวางใจ ชะล่าใจ

 

ชนิดพิษงูร้ายแรงในไทยที่ต้องระวัง

  1. พิษงูที่ออกฤทธิ์ต่อระบบเลือด (Hematotoxin) : เป็นพิษงูที่จะทำให้เลือดเกิดการแข็งตัวยาก ใครโดนกัดก็จะทำให้เลือดไหลไม่หยุด และอาจทำให้เสียเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าได้รับเซรุ่มไม่ทัน ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ และงูกะปะ

  2. พิษงูที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (Neurotoxin) : เป็นพิษงูที่ส่งผลต่อรอยต่อของปลายประสาทกับมัดกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อโดนพิษนี้ จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง  ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการที่พิษไปทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจไม่ทำงาน ทำให้สัตว์ไม่สามารถหายใจเองได้บางรายได้รับเซรุ่มไม่ทัน อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูทับสมิงคลา และงูสามเหลี่ยม 

  3. พิษงูที่ออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อ (Myotoxin) ทำให้เจ็บปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ได้แก่ งูทะเล

  4. พิษงูที่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดเนื้อตายบริเวณที่โดนกัด (local effect; cytotoxin ) โดยพิษนี้จะเจอได้ทั้งในงูเขียวหางไหม้ งูกะปะ งูเห่า และงูจงอาง ซึ่งพิษนี้ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น เปื่อยยุ่ย และเป็นเนื้อตายตามมา

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย, โรงพยาบาลสัตว์แพทย์ 4

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง