รีเซต

อัตราค่ารักษาพยาบาลที่ลูกจ้างประกันสังคมจะได้รับสิทธิฯจากกองทุนเงินทดแทน

อัตราค่ารักษาพยาบาลที่ลูกจ้างประกันสังคมจะได้รับสิทธิฯจากกองทุนเงินทดแทน
TNN ช่อง16
8 กรกฎาคม 2565 ( 18:11 )
156
อัตราค่ารักษาพยาบาลที่ลูกจ้างประกันสังคมจะได้รับสิทธิฯจากกองทุนเงินทดแทน


ตามที่เราทราบกันดีแล้วว่า กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จ่ายเงินทดแทนให้ แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้าง ประสบอันตราย เจ็บป่วย สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย ตาย หรือสูญหาย อันเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง  

การคุ้มครอง ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เมื่อเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน ค่าทำศพ และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

แล้วรู้หรือไม่ว่า อัตราค่ารักษาพยาบาลที่ลูกจ้างจะได้รับนั้น มีอัตราแต่ละกรณีแตกต่างกันไป โดยที่   ค่ารักษาพยาบาลจ่ายได้ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ดังนี้ 

1.กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบ อันตราย 1 ครั้ง     

2. กรณีที่ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 150,000 บาท โดยการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังนี้ บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วน และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข ,บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่ง และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข ,บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ และต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ,บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท ,ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม ,ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน ความเย็น สารเคมี รังสี ไฟฟ้า หรือระเบิด จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละ 25 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรัง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

3. กรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มอีกตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1,2 แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท

4. กรณีค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1 - 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

5. กรณีค่ารักษาพยาบาลทุกกรณีไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท 

(รพ. เอกชน) โดยที่การจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

6. ในกรณีลูกจ้างเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท

ทั้งนี้  สำนักงานประกันสังคม ยังมีบริการแจ้งการประสบอันตรายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ ระบบ e-Compensate เพื่อให้ลูกจ้างประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วยจากการทำงาน สามารถแจ้งการประสบอันตรายผ่านระบบดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่ต้องมาติดต่อที่ สปส. อีกทั้งยังได้รับพิจารณาวินิจฉัยการประสบอันตรายและได้รับเงินทดแทนในเวลาอันรวดเร็ว และตรวจสอบ ติดตาม สถานะของเรื่องประสบอันตรายได้ ขณะเดียวกันยังได้รับข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของ สปส.อีกด้วย 

โดยนายจ้าง ลูกจ้าง สมัครขอทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ และเข้าใช้งานระบบได้ที่ www.sso.go.th หัวข้อ SSO E-Service เพื่อดำเนินการได้ทันที

และทั้งหมดนี้คือสิทธิประโยชน์ ที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถาม หรือติดตามข่าวสารสำนักงานประกันสังคมผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

Website: www.sso.go.th   Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน  Instagram: sso_1506 Twitter: @sso_1506  YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง) LINE: @SSOTHAI  TikTok: @SSONEWS1506


ภาพจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน 

 



ภาพจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน 

 


ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ภาพจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน / TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง