รีเซต

"ปอดเป็นฝ้าขาว" ติดเชื้อไมโคพลาสมา ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เช็กสัญญาณอาการ ?

"ปอดเป็นฝ้าขาว" ติดเชื้อไมโคพลาสมา ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เช็กสัญญาณอาการ ?
TNN ช่อง16
10 กันยายน 2567 ( 14:20 )
38

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กรับเคสผู้ป่วยอายุ 29 ปี เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 มาด้วยอาการไข้สูง 40.5 องศาเซลเซียส ปวดหัว ปวดตัว อ่อนเพลีย ไอมาก ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า ไม่มีโรคประจำตัว เคยป่วยเป็นโรคโควิด 2 ครั้ง และไข้หวัดใหญ่ 1 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว ตรวจระดับออกซิเจน ร้อยละ 98 ฟังปอดปกติ เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวที่ปอดข้างขวาด้านล่าง แยงจมูกส่งตรวจ PCR รหัสพันธุกรรม 22 สายพันธุ์พบเชื้อแบคทีเรีย Mycoplasma pneumoniae เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวปกติ




วินิจฉัย : เป็นปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคพลาสมา Mycoplasma pneumoniae จึงรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน azithromycin และ moxifloxacin ผู้ป่วยดีขึ้นช้า ๆ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้อายุยังน้อย ปกติแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว แต่เมื่อติดเชื้อ Mycoplasma ครั้งนี้นอนรักษาในโรงพยาบาล 9 วัน อาการหนักกว่าตอนป่วยเป็นโรคโควิดและไข้หวัดใหญ่เมื่อปีที่แล้ว


เชื้อไมโคพลาสมาเป็นแบคทีเรียขนาดเล็ก มีอยู่ในธรรมชาติ สามารถติดต่อจากคนสู่คน เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง พบได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ บางคนทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบอย่างผู้ป่วยรายนี้ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รักษาหายด้วยยาปฏิชีวนะ 


โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-4 สัปดาห์ มีอาการเบื้องต้นดังต่อไปนี้



- ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ไอแห้งอาจมีเสมหะขาว อาจไอเรื้อรังจนทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก มีอาการเจ็บคอ คันคอ 

- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย

- เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก (พบได้น้อย) ถ้าอาการรุนแรงขึ้นจะทำให้หายใจเหนื่อย หายใจเร็ว 

- มีอาการติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง อาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากมีอาการนานและมีอาการหนักอาจมีภาวะแทรกซ้อน เกิดการติดเชื้อนอกระบบทางเดินหายใจ เช่น ติดเชื้อไมโคพลาสมาที่สมองและไขสันหลัง หรืออาจเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้


อาการบ่งชี้สำคัญที่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ ได้แก่


1. ไข้สูง

2. อาการไอแห้ง ๆ บ่อยครั้งและเป็นระยะเวลานาน หรือไอเป็นเลือด

3. อาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว

4. อาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก



5. อาการแน่นหน้าอกด้านซ้าย หรือรู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ

6. แขนหรือขาอ่อนแรง หรือชักเกร็ง / ซึมลง / อาการซีด / ปัสสาวะสีเข้ม หรือมีจุดเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไมโคพลาสมาได้

7. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ง่ายกว่าปกติ



โรคไมโคพลาสมายังไม่มีวัคซีนป้องกัน สิ่งที่ง่ายและดีที่สุดคือการป้องกัน ด้วยการไม่เข้าไปอยู่ในที่ชุมชนระบบปิด หรือพื้นที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย และควรล้างมือบ่อยๆและใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น 



ข้อมูล : เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC , ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC , ทีมกราฟิก TNN

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง