รีเซต

"สันติ" สั่งศึกษาภาษีนำเข้า 'รถอีวี' หนุนคนไทยได้ซื้อราคาถูกลงอีก

"สันติ" สั่งศึกษาภาษีนำเข้า 'รถอีวี' หนุนคนไทยได้ซื้อราคาถูกลงอีก
มติชน
10 มกราคม 2565 ( 09:39 )
57
"สันติ" สั่งศึกษาภาษีนำเข้า 'รถอีวี' หนุนคนไทยได้ซื้อราคาถูกลงอีก

“สันติ” สั่ง กรมศุลฯ ศึกษา โครงสร้างภาษีนำเข้า “รถอีวี” เผยมาตรการส่งเสริมอีวี รอเข้า ครม. พร้อมกันเป็นแพจเก็จ แย้มภาษีคิดตามขนาดการใช้ไฟฟ้า รถเล็กได้ส่วนลดมากที่สุด

 

นายสันติ พรัอมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเร่งศึกษารายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีทั้งระบบ เพราะขณะนี้ภาษีนำเข้ารถยนต์ของแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันอยู่ อาทิ จีนได้รับสิทธิความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากผลิตในบางประเทศ อาทิ ยุโรป สหรัฐอเมริกา ยังคงเสียภาษีในอัตราสูงอยู่ เนื่องจากไม่มีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยสนับสนุนให้คนไทยปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่ม ตามนโยบายของรัฐบาล

 

“การปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จะต้องจูงใจให้มีการใช้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ในประเทศ เนื่องจากประเทศไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก ดังนั้นการปรับภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องสมดุลกัน ทั้งสองขา ทั้งคนใช้และผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม หากปรับภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า แต่ภาษีของแต่ละประเทศคงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่จะมีความสมดุลกันมากขึ้น แต่ในอนาคตราคารถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลงอย่างแน่นอน และมีหลากหลายรุ่น ให้ลูกค้าได้เลือก” นายสันติ กล่าว

 

ส่วนมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่ยังไม่เสนอเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงนี้ เนื่องจากต้องรอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) พิจารณาออกมาเป็นแพ็คเกจโดยรวม ซึ่งนอกจากเรื่องภาษีของคลังแล้ว ก็ยังมีมาตรการด้านการลงทุน มาตรการของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลเกี่ยวกับภาษีท้องถิ่นเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย แม้ในส่วนของเรื่องภาษี กระทรวงการคลังจะทำเสร็จแล้วก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแนวโน้มภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนตัวเชื่อว่าจะลดลง เพื่อต้องการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่การปรับอาจเป็นแบบขั้นบันได และภาษีรถยนต์ขนาดเล็ก น่าจะมีอัตราต่ำกว่ารถขนาดใหญ่ โดยคิดตามอัตรากำลังไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปส่งเสริมเรื่องสถานีชาร์จให้ขยายจุดมากยิ่งขึ้น ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยในอนาคตจะสนับสนุนการลงทุนสถานีชาร์จ ที่ใช้แผงโซล่าเซลล์ด้วย เพื่อประหยัดต้นทุนการชาร์จไฟ

 

นายสันติ กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเร่งปรับตัว รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า เพราะหากไม่ปรับตัว อาจต้องเลิกกิจการได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นรถยนต์ไฟฟ้าจะใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป ดังนั้น ชิ้นส่วนบางชิ้น เช่น เพลาหลัง ระบบเกียร์ก็จะไม่ต้องใช้ หากใครผลิตจะต้องมีการปรับปรุงไปใช้ชิ้นส่วนอื่นแทน

 

“ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นแล้ว เช่น กรณีของ กล้องใช้ฟิล์ม ที่ไม่ปรับตัว ในที่สุดก็ต้องปิดกิจการ และถูกกล้องดิจิทัลเข้าแทนที่ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการรถยนต์ในประเทศไทย หากไม่ปรับตัว หันมาผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ก็อาจถึงขั้นต้องลดกำลังการผลิต และปิดตัวได้ ” นายสันติ กล่าว
/////

ข่าวที่เกี่ยวข้อง