รีเซต

ทุก 1 ชม.จะมีคนตาย 2 คน จากอุบัติเหตุทางถนนไทยติดอันดับ 9 ของโลก

ทุก 1 ชม.จะมีคนตาย 2 คน จากอุบัติเหตุทางถนนไทยติดอันดับ 9 ของโลก
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2567 ( 18:11 )
19
ทุก 1 ชม.จะมีคนตาย 2 คน จากอุบัติเหตุทางถนนไทยติดอันดับ 9 ของโลก

อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประสบภัยแล้ว ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักส่งผลกระทบด้านสังคม ยังทำให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ และยังก่อให้เกิดต้นทุนอื่น ๆ เช่น ต้นทุนในการดำเนินคดี ต้นทุนจากผลกระทบต่อสภาพการจราจร เป็นต้น


โดยศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ ThaiRSC รายงานข้อมูลรายชั่วโมง พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทุกวัน “365 วัน อันตราย ตายทุกวัน” โดยจำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 เมษายน 2567 มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 4,125 คน หรือเฉลี่ยในทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 2 คน ส่วนยอดผู้บาดเจ็บสะสม 238,648 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 36-60 ปี รองลงมา ช่วงอายุ 25-35 ปี โดยยานพาหนะที่เป็นสาเหตุหลักทำให้มีผู้เสียชีวิตมากสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81 และรถยนต์ร้อยละ 18


ทั้งนี้จากรายงานขององค์การอนามัยโลก WHO ฉบับล่าสุด 2023 โดยอ้างอิงข้อมูล ปี 2021 พบว่าคนไทยเสียชีวิต 18,218 ราย หรือคิดเป็น 25 ต่อแสนประชากรจากอุบัติเหตุทางถนน ติดอันดับที่ 18 ของโลก โดยเมื่อปี 2018  องค์การอนามัยโลกเคยจัดอันดับให้ประเทศไทย มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก 



จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทุกๆปี ราว 20,000 คน หรือมากกว่านั้น ส่วนอีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจนพิการไปตลอดชีวิต ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ เช่น ขับรถโดยประมาท ไม่ชำนาญเส้นทาง ไม่รู้จักสภาพแวดล้อมของถนนดีพอ โดยเฉพาะการไม่สวมหมวกกันน็อก และรัดเข็มขัดนิรภัย


นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ทุกปีทั่วโลกมีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 1.2 ล้านราย นับเป็นปัญหาสาธารณสุข มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ UN ได้ทำหน้าที่ในการประเมินและวางแผนกิจกรรมความปลอดภัยทางถนน ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อทำข้อมูลและถอดบทเรียนนำไปสู่การปฏิบัติ 


สำหรับรายงาน Global Status Reports on Road Safety ปี 2023 โดย องค์การอนามัยโลก ระบุว่าที่ผ่านมาในทศวรรษความปลอดภัยที่ 1 ได้มีการออกรายงานมาแล้ว 4 ฉบับ มีการตั้งเป้าหมายกำหนดให้ระหว่างปี 2564 - 2573 ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50 จากข้อมูลรายงานฉบับล่าสุด พบว่าสถานการณ์ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1.19 ล้านราย คิดเป็น 15 ต่อแสนประชากร ร้อยละ 92 เกิดในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ที่น่าสนใจพบว่าสัดส่วนมากที่สุด ร้อยละ28  เกิดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก 5-29 ปี คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 63 ล้านล้านบาท



โดย 5 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ อัตราการใช้ความเร็ว ดื่มไม่ขับ พฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อค พฤติกรรมการเข็มขัดนิรภัย และการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก โดยต้นแบบที่มีครบทุกมาตรการคือ ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และออสเตรเลีย 


สำหรับข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมาย การสวมหมวกกันน็อค พบว่า ค่าเฉลี่ยในประเทศไทย คนขับขี่สวมหมวกกันน็อค ร้อยละ 52  คนซ้อน ร้อยละ 21  ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ร้อยะล 80  และ ร้อยละ 70


ส่วนการคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ ค่าเฉลี่ยในประเทศไทย ทั้งคนขับและคนโดยสาร อยู่ที่ร้อยละ 35.7  ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ คนขับร้อยละ 80  ผู้โดยสารข้างหน้าร้อยละ 70  และผู้โดยสารนั่งตอนหลังร้อยละ 50


จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าอัตราสวมหมวกกันน็อคของคนไทย ยังไม่ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราคาดเข็มขัดนิรภัยของไทยลดลงอย่างชัดเจน จากค่าเฉลี่ยปี 2561 ที่คนขับร้อยละ 58 คนโดยสารร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 35.7 เท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสถานการณ์ดีขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2558 แต่ยังคงเป็นความท้าทายของฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงให้กได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2570 หรือ ภายใน 3 ปี




ข้อมูลจาก :

ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ ThaiRSC

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงมหาดไทย


ภาพข่าว : TNN16


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง