ระวัง! โรค RSV ระบาดฤดูฝน-ฤดูหนาว พร้อมเผยอาการเริ่มป่วยเป็นอย่างไร?
วันนี้ (17 ก.ย. 65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว (ส.ค.-พ.ย.) มีโอกาสพบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 2 ก.ย.65 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 1,445 ราย มีผลตรวจพบเชื้อ RSV จำนวน 131 ราย (9%) โดยตรวจพบเชื้อพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี (58%) และพบจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่ และสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มิ.ย.65 พบผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นอาร์เอสวีแล้วจำนวน 2,341 ราย
สำหรับโรคนี้ติดต่อได้จากการสูดละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก ผู้ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังจากติดเชื้อ 2 วัน ช้าสุดประมาณ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน
ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วันหลังจากเริ่มมีอาการ สำหรับการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กโรคมีโอกาสลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลม เนื้อปอด ทำให้เกิดอาการหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบตามมาได้
ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายกับโรคไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบเสียงหายใจมีเสียงหวีด เสียงครืดคราดในลำคอ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง และอาจเสียชีวิตได้
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวีโดยตรง การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง คือ เด็กเล็ก เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอแนะนำผู้ปกครองและสถานศึกษาหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน เด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างใกล้ชิด ป้องกันได้โดยการล้างมือบ่อยๆ ล้างอย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหารและหลังเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณหน้า ตา จมูก ปาก ไม่ใช้ภาชนะอาหารและของใช้ส่วนตัวร่วมกันผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ส่วนผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบายเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งเวลาไอจาม ทำความสะอาดบ้านรวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากพบเด็กมีอาการป่วย ควรแยกออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก : AFP