รีเซต

ชาวออสสี่อาจจะไม่มี Google ให้ใช้อีกต่อไป !!

ชาวออสสี่อาจจะไม่มี Google ให้ใช้อีกต่อไป !!
TNN ช่อง16
9 กุมภาพันธ์ 2564 ( 10:34 )
55
ชาวออสสี่อาจจะไม่มี Google ให้ใช้อีกต่อไป !!

เมษายน 2020

ย้อนกลับไปช่วงเมษายนปีก่อน รัฐบาลออสเตรเลียได้สั่งให้ Competition and Consumer Commission (ACCC) หรือหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในออสเตรเลียร่างกฎหมายข้อบังคับ News Media Bargaining Code ให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อย่าง Facebook และ Google ต้องจ่ายเงินให้สำนักข่าว เมื่อมีการนำเนื้อหาข่าวของสำนักข่าวนั้นมาแสดง (แบบเหมารวม) กฎข้อบังคับนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะเพิ่มรายได้ให้กับสำนักข่าวให้มากขึ้น สำนักข่าวผู้ผลิตเนื้อหาต้องได้รายได้จากการผลิตข่าวสาร และเปิดเผยข้อมูลให้กับทางสำนักข่าวเพิ่มเติม กฎข้อบังคับนี้สร้างขึ้นมาเพราะผลกระทบรายได้โฆษณาที่เกิดจากการแพร่ระบาด


มิถุนายน 2020

ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ทาง Facebook และ Google ก็ได้ออกมาบอกว่าพวกเขาจะไม่จ่ายเงินให้สำนักข่าวในออสเตรเลียอย่างแน่นอน โดยทาง Facebook ให้เหตุผลว่ากฏหมายดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม เพราะจะเป็นการบังคับให้อุดหนุนคู่แข่ง และอาจจะทำให้ค่าโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มสูงขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรให้ Facebook และ Google เป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาทางการเงินที่สำนักข่าวในออสเตรเลียกำลังเผชิญแต่เพียงลำพัง Facebook ยืนยันว่าตนไม่ได้รับผลกระทบมากนักหากตัดการรายงานข่าวออกจากหน้าฟีด

สิงหาคม 2020

ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน Google ก็ได้ออกมาบอกว่ากฎข้อบังคับของออสเตรเลียเป็นอันตรายต่อความเป็นส่วนตัว และทำให้เกิดปัญหากับบริการฟรีของตัว Google ที่ได้มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับทางสำนักข่าวอยู่แล้ว โดยทาง ACCC ก็ได้ออกมาตอบโต้ว่า ตัวกฎไม่ได้บังคับให้ Google หรือ Youtube ต้องเลิกให้บริการฟรีแล้วหันไปคิดค่าบริการ และไม่ได้บังคับให้ต้องแชร์ข้อมูลการค้นหาแต่อย่างใด 


กันยายน 2020

ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน Facebook ขู่เตรียมบล็อกไม่ให้สำนักข่าวหรือแม้แต่ชาวออสเตรเลียแชร์ข่าวสำนักข่าวในประเทศบนฟีดของ Facebook และ Instagram หากกฎข้อบังคับนี้ผ่าน หลังจากนั้น 8 วัน ACCC ของออสเตรเลียก็ออกมาตอบโต้ แต่ไม่ใช่เรื่องกฎข้อบังคับ แต่เป็นการสอบสวน Google Play และ App Store ว่าขายพ่วงหรือไม่แทน โดยทาง ACCC ต้องการข้อมูล 8 ประเด็นจากทาง Google และ Apple

ตุลาคม 2020

ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว Google ตัดสินใจ ระงับการเปิดบริการข่าวใหม่ News Showcase ที่ออสเตรเลียไปก่อน เพราะไม่แน่ใจว่า News Showcase จะสามารถดำเนินการภายใต้กฎใหม่ของออสเตรเลียได้หรือไม่ Google บอกว่าสาเหตุที่ต้องระงับการเปิดตัวไปก่อนเป็นเพราะ ต้องการทำข้อตกลงกับผู้จัดพิมพ์ได้โดยไม่ต้องมีกรอบการเจรจาต่อรองที่ยุ่งยาก และยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระเงินที่ไม่เป็นธรรม, ขอบเขตและภาระผูกพันที่ไม่ชัดเจน เพราะจะมีสำนักข่าวหนึ่งได้รับเงิน แต่อีกฝ่ายไม่ได้รับ และยังบอกด้วยว่า ในปี 2018 Google ได้สร้างมูลค่าให้กับสำนักข่าว 200 ล้านดอลลาร์ และมีเพียง 10 ล้านดอลลาร์เท่านั้นที่ Google ได้ประโยชน์จากข่าว ซึ่งไม่เป็นผลกำไรแต่อย่างใด

News Showcase ของ Google คือผลิตภัณฑ์ข่าวสารแบบใหม่ที่ให้ผู้ผลิตเนื้อหาและสำนักข่าว เรียบเรียงและสร้างเนื้อหาใหม่ให้อ่านได้จบบน Google อีกทั้งยังได้เงิน อุดหนุนจาก Google ด้วยเป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นการสนับสนุนระยะยาวของทั้งโครงการ เริ่มเปิดตัวที่เยอรมนีและบราซิลก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ต่อไป


มกราคม - กุมภาพันธ์ 2021

ในเดือนมกราคมปี 2021 ทาง Google ก็ได้ออกมาขู่ว่าจะเอา Search ออก หากออสเตรเลียยังบังคบเรื่องกฎหมายข้อบังคับดังกล่าวอยู่ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีข่าวลือหนาหูว่า ถ้า Google เอา Search ออก ทาง Microsoft จะเป็นผู้ให้บริการด้าน Search แทน และล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2021 ทาง Google ก็ได้เปิดตัว News Showcase ในออสเตรเลีย แท้จะยังมีเรื่องข้อพิพาททางกฎหมายอยู่ เพื่อหวังว่าจะช่วยดึงนักข่าวและสำนักข่าวให้ยืนเคียงข้างกับ Google และต้านกฎหมายข้อบังคับดังกล่าว โดยมีสำนักข่าวออสเตรเลียที่เข้าร่วมโครงการมากมาย อาทิ The Canberra Times, The Illawarra Mercury, The Saturday Paper, Crikey, The New Daily, InDaily และ The Conversation

ประเด็นร้อนแรงที่ส่งผลต่อสำนักข่าวและแพลตฟอร์มออนไลน์ทั่วโลก

ประเด็นเรื่อง News Media Bargaining Code ไม่ได้ส่งผลต่อออสเตรเลียเท่านั้น แต่เมื่อใดที่ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นที่ยอมรับ หรือถ้าหาก Google ยอม หรือ Facebook ยอม สิ่งที่จะตามมาคือการที่แต่ละประเทศทั่วโลกจะเริ่มร่างกฎหมายข้อบังคับนี้ตาม ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อทาง Google หรือ Facebook ที่เป็นผู้ยืนอยู่ในจุดสูงสุดของตลาดเป็นอย่างมาก

แต่นั่นก็ทำให้เกิดช่องโหว่ให้บริษัทแบรนด์อื่น ๆ ได้เข้ามาชิงชัยได้ เช่น Microsoft ที่สนับสนุนกฎหมายของออสเตรเลีย และมองว่าข้อกฎหมายสมเหตุสมผลในด้านการถ่วงดุลอำนาจ แต่ถ้าพูดให้เห็นภาพทั้งหมด นี่ก็คือช่องทางหนึ่งที่ Microsoft จะสามารถส่ง Bing เข้าไปแทนที่ Google ในออสเตรเลียได้นั่นเอง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้เราคาดเดาจุดจบของข้อพิพาทนี้ได้แล้ว หาก Google ไม่ยอมและบล็อคออสเตรเลีย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่ออสเตรเลียหยิบ Bing มาใช้แทน หรือไม่อีกทางก็ Google ยอมออสเตรเลีย เพื่อรักษาฐานผู้ใช้งานของตนเองเอาไว้แค่นั้น


website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง