รีเซต

QR Code กินได้ ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยนักวิจัยสิงคโปร์

QR Code กินได้ ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยนักวิจัยสิงคโปร์
TNN ช่อง16
26 กรกฎาคม 2567 ( 11:34 )
12
QR Code กินได้ ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยนักวิจัยสิงคโปร์

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกแบบและเทคโนโลยีแห่งสิงคโปร์ (Singapore University of Technology and Design: SUTD) พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์อาหารจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่สามารถรับประทานได้ เพื่อยกระดับประสบการณ์การจัดจาน การออกแบบมื้ออาหาร และสร้างอาหารที่โต้ตอบกับมนุษย์ได้


เบื้องหลังการพิมพ์ QR Code กินได้

การพิมพ์วัตถุดิบอาหารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ต่างจากสารอื่น ๆ เนื่องจากสมบัติในเชิงวิศวกรรมของอาหาร เช่น ความหนืด (viscosity) หรือ เนื้อสัมผัส (texture) หรือเรียกว่าสมบัติเชิงรีโอโลยี (rheological properties) ไม่สามารถใช้ร่วมกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้ง่ายนัก ต่างจากเหล็ก หรือคอนกรีตที่มักนำมาใช้งานร่วมกันได้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงสร้างซับซ้อนได้ง่ายกว่า


อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยจาก SUTD ได้พัฒนาเทคนิคใหม่ ด้วยการใช้ท่อพ่นแบบเดี่ยว  (single nozzle) ที่มีปากท่อหลายรู (multiple inlet) พร้อมกับระบบอัดอากาศเครื่องกลแบบฉับพลัน (Rapid pneumatic switching) ซึ่งรองรับการใช้วัตถุดิบอาหารหลากหลายประเภทกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยไม่ทำให้แบบเสียรูปทรง โดยได้สาธิตผลลัพธ์เป็นการพิมพ์ตราสัญลักษณ์ (Logo) ของมหาวิทยาลัย SUTD และ QR Code


ความแตกต่างงาน QR Code กินได้ของสิงคโปร์ กับที่อื่น ๆ 

ก่อนหน้านี้ การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ กับอาหาร จะต้องใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนอย่างมากในการทำให้วัตถุดิบที่พิมพ์ออกมาไม่แตกหัก เช่น การออกแบบให้มีกระบอกฉีด (Syringe) สำหรับวัตถุดิบแต่ละประเภทแบบควบคุมแยกอิสระต่อกัน พร้อมต้องทำให้ระบบเครื่องพิมพ์สามารถเปลี่ยนวัตถุในเวลาอันสั้น แตกต่างจากวิธีการของทีมนักวิจัยจาก SUTD ที่ใช้เพียงกระบอกฉีดเดียว และมีกระบวนการทำงานที่เรียบง่ายกว่า


โดยทีมนักวิจัยเชื่อว่า นวัตกรรมนี้จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการออกแบบอาหารส่วนบุคคล (Personalized meal) จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ตามความต้องการสารอาหารของแต่ละคนที่ต่างกัน รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับมื้ออาหารเพิ่มเติมผ่าน QR Code ที่รับประทานได้ ตามยุคสมัยที่คนหันมาใช้สมาร์ตโฟนระหว่างมื้ออาหารมากขึ้น


ข้อมูลจาก Interesting Engineering

ภาพจาก SUTD via ScienceDirect

ข่าวที่เกี่ยวข้อง