รีเซต

‘ดวงประทีปแห่งประชาธิปไตย’ ไต้หวันกร้าว เป็นด่านหน้าพิทักษ์เสรีภาพ และยอมรับมีทหารอเมริกันช่วยฝึกรบ

‘ดวงประทีปแห่งประชาธิปไตย’ ไต้หวันกร้าว เป็นด่านหน้าพิทักษ์เสรีภาพ และยอมรับมีทหารอเมริกันช่วยฝึกรบ
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2564 ( 11:49 )
57

ประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน ผู้นำไต้หวัน ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าว CNN ยืนยันเป็นครั้งแรกในรอบ 42 ปีว่า มีทหารสหรัฐฯ อยู่ในไต้หวัน เพื่อฝึกรบให้แก่ทหารไต้หวันจริงอย่างที่เป็นข่าว แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ามีทหารสหรัฐฯ อยู่ในไต้หวันกี่นายในขณะนี้ ระบุเพียงว่า ไม่ได้มีจำนวนมากอย่างที่ใคร ๆ เข้าใจ


นอกจากนี้ ผู้นำไต้หวันยังแสดงความเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวัน และเปิดเผยว่า ไต้หวันมีความร่วมมือทางทหารอย่างกว้างขวางกับสหรัฐฯ มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันตนเองของไต้หวัน


ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ระบุด้วยว่า จีนกำลังคุกคามไต้หวันเพิ่มขึ้นทุกวัน ประชากร 23 ล้านคนบนเกาะไต้หวัน ก็ต้องดิ้นรนพยายามอย่างหนักทุกวัน เพื่อปกป้องตนเอง เพื่อปกป้องประชาธิปไตย และเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ประชาชนของเราจะได้มีเสรีภาพอย่างที่เราสมควรได้รับ


ระบุว่า ไต้หวันเป็นประดุจ “ดวงประทีป” แห่งประชาธิปไตย และจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง เพื่อผดุงไว้ซึ่งศรัทธาในคุณค่าแห่งประชาธิปไตยทั่วโลก และเตือนว่า หากไต้หวันล้มเหลวในการปกป้องตนเองและประชาธิปไตย จะสร้างความคลางแคลงใจทั่วโลกว่า ยังสมควรต้องต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยอยู่หรือไม่


ทั้งนี้ ไต้หวันมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง มีการเลือกตั้งผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย และมีกองกำลังประมาณ 300,000 นาย


◾◾◾

🔴 ยอมรับว่ามีทหารสหรัฐฯ ในไต้หวัน


นับว่าไช่ อิง-เหวิน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวันในรอบ 42 ปี ที่ออกมายอมรับเรื่องนี้ หลังจากสหรัฐฯ ได้ถอนทหารชุดสุดท้าย ออกจากไต้หวันอย่างเป็นทางการในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อไต้หวันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเปลี่ยนจากการรับรองไต้หวันในทางการทูตอย่างเป็นทางการ ไปเป็นการรับรองทางการทูตต่อจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการแทน


แม้ว่าสหรัฐฯจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ก็กำหนดให้ต้องสนับสนุน และช่วยเหลือความพยายามของเกาะแห่งนี้ในการปกป้องตนเอง รวมถึงผ่านการขายอาวุธให้ด้วย แต่ก็ยังคงมีความ 'คลุมเครือ' มานานแล้วว่า สหรัฐฯ จะทำอย่างไร หากจีนโจมตีไต้หวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์เรียกกันว่าเป็น "ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์"


ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ตกต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี หลังจากต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กองทัพอากาศจีนได้ส่งเครื่องบินรบไปใกล้น่านฟ้าไต้หวันหลายวันติดต่อกัน และมากที่สุดที่เคยมีมา รวมทั้งหมด 148 ลำ พร้อมกับระบุว่า สามารถจะรุกรานไต้หวันได้ทุกเมื่อ


ไต้หวันตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีนไม่ถึง 200 กิโลเมตร, ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แยกจากกันนับตั้งแต่พรรคก๊กมินตั๋ง หรือพรรคชาตินิยมไต้หวัน ถอยร่นออกจากจีน ไปยังไต้หวันอย่างถาวร เป็นการสิ้นสุด “สงครามกลางเมือง” ในจีนเมื่อกว่า 70 ปีก่อน แต่จีนยังคงมองว่าไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่ง และพร้อมจะใช้กำลังหากจำเป็น


ไต้หวันย้ำมาโดยตลอดว่า ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับจีน แต่จะปกป้องตนเองอย่างเต็มความสามารถ ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า แม้จีนจะมีความพร้อมที่จะบุกไต้หวันได้ตลอดเวลา แต่คาดว่าจีนจะพร้อมบุกยึดไต้หวันแบบเต็มรูปแบบในปี 2025


เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ CIA เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นอะไรที่บ่งชี้ ว่าจีนกำลังเตรียมการรุกรานทางทหารต่อไต้หวัน ตามที่มีการประเมินกัน


◾◾◾

🔴 “ไบเดน” ย้ำสหรัฐฯ พร้อมปกป้องไต้หวัน ***


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนพลัส ตอกย้ำว่า สหรัฐฯ ยึดมั่นในพันธะสัญญาที่ “มั่นคงดุจดั่งหินผา” ในการปกป้องเสรีภาพของไต้หวัน และแสดงความกังวลว่า การกระทำของจีนต่อไต้หวัน เป็นการ “ขู่เข็ญบังคับ” และเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้


พร้อมกับระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมยืนหยัดเคียงข้างอาเซียน ในการปกป้องเสรีภาพทางทะเล ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน


ด้านนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ก็เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย โดยระบุว่า การรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพในการเดินเรือ และการเดินทางโดยเครื่องบิน เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้นั้น เป็นผลประโยชน์ของทุกคน และทะเลจีนใต้เป็น “บ้านของพวกเรา” ร่วมกัน


นักวิเคราะห์มองว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีความสำคัญมากขึ้น กลายเป็นสนามรบทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังจากที่จีนเข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ และกดดันไต้หวันหนักขึ้นทั้งทางการเมืองและการทหาร


ในการประชุมนี้ ไบเดนยังเปิดเผยด้วยว่า สหรัฐฯ จะเริ่มเปิดการเจรจากับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อริเริ่มการวางกรอบด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค


◾◾◾

🔴 สหรัฐฯ ยืนยัน จีนทดสอบขีปนาวุธเร็วเหนือเสียงจริง


พลเอก มาร์ค มิลลี ผู้นำสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า อาวุธที่จีนได้ทดสอบไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น เป็นขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค หรือ ขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงจริง สามารถโคจรรอบโลก และหลบหลีกระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ได้ดีขึ้นกว่าเดิม


หลังจากก่อนหน้านี้ เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ปฏิเสธที่จะยืนยันข่าวนี้มาตลอด และแสดงความกังวล ต่อความก้าวหน้าด้านอาวุธของจีน เปรียบเทียบว่า มีความสำคัญ ในระดับที่เกือบเทียบเท่ากับ “สปุตนิก โมเมนท์” (Sputnik moment) หมายถึงช่วงเวลาที่รัสเซียชิงตัดหน้าสหรัฐฯ ปล่อยดาวเทียมดวงแรกของโลก ที่มีชื่อว่า “สปุตนิก” (Sputnik) ได้ เมื่อปี 1957


อย่างไรก็ตาม จีนได้ออกมาปฏิเสธไปแล้วว่า การทดสอบดังกล่าว ไม่ใช่การทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง แต่เป็นเพียงการทดสอบยานอากาศที่นำกลับมาใช้ซ้ำเท่านั้น


ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ยอมรับว่า ยังไม่รู้ว่าจะป้องกันอาวุธความเร็วเหนือเสียงได้อย่างไร เช่นเดียวกับจีนและรัสเซีย ก็ยังไม่รู้เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุดที่สหรัฐฯ จะสามารถป้องกันอาวุธความเร็วเหนือเสียงได้คือ การพัฒนาศักยภาพทางการรุกของอาวุธสหรัฐฯ ให้เทียบเท่ากัน


ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา กองทัพสหรัฐฯ จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอาวุธเหนือเสียง เป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียเริ่มทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียงติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ในปี 2018


ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก เดินทางได้รวดเร็วกว่าความเร็วของเสียง 5 เท่า และสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้


สัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่า สหรัฐฯได้เดินหน้าทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงแต่ล้มเหลว 1 ครั้ง ทำให้ถูกวิจารณ์ว่า สหรัฐฯก้าวตามหลังจีนและรัสเซีย

—————

เรื่อง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Handout / Taiwan Presidential Office / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง