รีเซต

เปิดวิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ออนไลน์

เปิดวิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ออนไลน์
TNN ช่อง16
20 มกราคม 2565 ( 17:13 )
58.8K

มาตรา 39 คือหนึ่งในมาตราของ ประกันสังคม ที่สำนักงานประกันสังคมเปิดให้ประชาชนที่ต้องการเป็นผู้ประกันตนสามารถสมัครได้โดยสมัครใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในสวัสดิการภาครัฐที่เปิดโอกาสให้กับผู้ที่เคยทำงานและตกงาน หรือลาออกจากงาน สามารถรับสิทธิประกันสังคมได้อย่างต่อเนื่อง


มาตรา 39 คืออะไร 

ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และจ่ายเงินสมทบก่อนออกจากงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนแล้วลาออกหรือตกงาน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมอยู่ โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 มีสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่

- กรณีเจ็บป่วย

- กรณีคลอดบุตร

- กรณีทุพพลภาพ

- กรณีเสียชีวิต

- กรณีสงเคราะห์บุตร

- กรณีชราภาพ


โดยปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนโดยการสามารถสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีเอกสารและวิธีการดังนี้


เอกสารการสมัคร มาตรา 39 

- แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)     

- บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา 


วิธีการสมัครมาตรา 39 แบบออนไลน์

  1. 1. ดาวน์โหลดเอกสาร แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20) 
  2. 2. แนบบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่มีเลขบัตรประชาชนและรูปถ่ายที่ราชการออกให้ พร้อมสำเนา

3. ส่งแบบคำขอและเอกสารการสมัครมาตรา 39 ผ่านช่องทางที่สะดวก

- สมัครทางสำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน

- สมัครทางไปรษณีย์ระบบลงทะเบียน

- สมัครทางโทรสาร (FAX)

- สมัครทางออนไลน์ผ่านระบบอีเมลล์

- สมัครทางออนไลน์ผ่านระบบไลน์

4. ตรวจสอบผลการสมัครมาตรา 39 อย่างใกล้ชิด


เงินสมทบมาตรา 39 ต้องส่งประกันสังคมเท่าไหร่


ผู้สมัครมาตรา 39 ต้องนำส่งเงินสทบเข้าประกันสังคมเดือนละ 432 บาท โดยเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน ซึ่งคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน)


วิธีจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39

  1. 1. จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา พร้อมแบบส่งเงินสมทบฯ (สปส. 1-11) โดยหักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มี 7 ธนาคาร ดังนี้

        1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)   

        2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)   

        3. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)   

        4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)   

        5.  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)   

        6.  ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

        7.  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)


หมายเหตุ   

- กรณีหักผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขอรับหนังสือยินยอมให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาที่เปิดบัญชี หรือ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่) 

- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปรับลดค่าธรรมเนียมรายการละ 5 บาท  (เดิมคิดค่าธรรมเนียม 10 บาท)

 

2. จ่ายด้วยเงินสดที่

  1. - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)   
  2. - ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)   
  3. - ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)   
  4. - จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7- ELEVEN ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท สามารถจ่ายเงินสมทบได้ทุกสาขา
  5. - จ่ายเป็นธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ พร้อมแบบส่งเงินสมทบ สปส. 1-11 ถึงสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (กรณีจ่ายผ่านธนาณัติ แนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่า สั่งจ่าย ตู้ ป.ณ. ใด)
  6. - จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ จะมีค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท 
  7. - จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เพย์สบายที่มีสัญลักษณ์ "แจ๋ว" ทุกสาขาทั่วประเทศ จะมีค่าธรรมเนียม 10 บาท


หน้าที่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีอะไรบ้าง

  1. 1. ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน
  2. 2. แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงให้สำนักงานประกันสังคมดังนี้

- กรณีเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ (สปส. 1-34)

- กรณีเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล หรือแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ต้องแจ้งทันทีพร้อมแนบสำเนาหลักฐาน

- กรณีประสงค์ลาออกหรือกลับเข้าทำงานและมีสถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีตามแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 (สปส.1-21)        


ที่มาข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง