รีเซต

จุรินทร์ มอบพาณิชย์จับมือ JETRO เดินหน้าฝ่าโควิด-19

จุรินทร์ มอบพาณิชย์จับมือ JETRO เดินหน้าฝ่าโควิด-19
มติชน
4 กรกฎาคม 2563 ( 11:40 )
41

 

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้แทนสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้หารือกับ นายอัตสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCC) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ในเรื่องผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยและสถานการณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย JCC เป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง

 

นายสรรเสริญฯ เปิดเผยว่า ในช่วง 18 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2563 JCC ได้ทำการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทยสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2563 และการคาดการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งผลการสำรวจบ่งชี้ว่า แม้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะซบเซาเพราะสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 และยังไม่สามารถประเมินความรุนแรงของผลกระทบได้ชัดเจน แต่ภาคธุรกิจและภาครัฐสามารถร่วมมือกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้

 

ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลไทยกับภาคธุรกิจญี่ปุ่นจึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นทั้งนักลงทุนและคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 45 ของ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย 631 บริษัทที่ตอบแบบสอบสำรวจ เห็นว่า รัฐบาลไทยมีมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่เหมาะสม และบริษัทเหล่านั้น เข้าใจถึงความจำเป็นของรัฐบาลที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างปัญหาปากท้องและความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งได้สนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยทั้งโดยการบริจาคเงินทุน และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย เช่น บริจาคห้องตรวจหาเชื้อให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี

 

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังเปิดโอกาสให้ JETRO และ JCC หารือเรื่องข้อกังวลและการสนับสนุนที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นต้องการ ซึ่งบริษัทที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ต้องการให้ไทยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น เช่น การสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นพิเศษ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การสนับสนุนค่าจ้างแรงงานเพื่อลดการว่างงาน การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทต่างชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากจะมีนักธุรกิจและนักลงทุนจากญี่ปุ่นเดินทางมายังไทยเป็นจำนวนมาก การสื่อสารที่ชัดเจนจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและช่วยอำนวยความสะดวกต่อการวางแผนงานของบริษัทญี่ปุ่น ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรเตรียมการและสื่อสารเรื่องกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง การออก visa และ work permit รวมทั้งกระบวนการคัดกรองและกักตัวให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างชัดเจน

 

นายสรรเสริญฯ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคเอกชนญี่ปุ่นหลายประการ เช่น การส่งเสริมการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำธุรกรรม การติดตามสถานการณ์ห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 การมีบทบาทในเวทีโลก โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบอาเซียนเพื่อให้การผลิตและขนส่งสินค้าในภูมิภาคเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และแม้ว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ตอบแบบสำรวจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นอย่างมาก แต่ทุกภาคส่วนยังมองว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม และผลการสำรวจดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาครัฐของไทยในการพัฒนาและดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง