รีเซต

7 ข้อห้าม หลังปลดล็อกกัญชา (ไม่เสรี) อย่าทำเด็ดขาด ถ้าไม่อยากติดคุก!

7 ข้อห้าม หลังปลดล็อกกัญชา (ไม่เสรี)  อย่าทำเด็ดขาด ถ้าไม่อยากติดคุก!
TNN ช่อง16
15 มิถุนายน 2565 ( 11:58 )
240

ความคืบหน้าหลังจากการปลดล็อกกัญชา กัญชง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ทำให้ กัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไปตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น  

TNNONLINE ได้รวบรวม 7 ข้อห้าม หลังการปลดล็อกกัญชา (ไม่เสรี) ข้อควรปฏิบัติ อะไรทำได้ ทำไม่ได้



1. ห้ามนำกัญชา ใส่ในอาหาร เกิน 1 ใบสด ต่อ 1 เมนู 


สำหรับ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่


1) จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา 

2) แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด

3) แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู

4) แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ

5) แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา 

เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”

6) ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค






2. ห้ามจำหน่ายกัญชา กัญชง ให้กลุ่มไหนบ้าง?


- สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร

- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 

- บุคคลที่รัฐมนตรีว่ากการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด










3. ห้ามปลูกเอง  แค่ขอความร่วมมือ  ลงทะเบียน Application “ปลูกกัญ” 


ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ประชาชนที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง ต้องแจ้งข้อมูลผ่านระบบ Application “ปลูกกัญ”  ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจัดทำขึ้น  เพื่อทำการขออนุญาตในการปลูก 


โดยจดแจ้งเพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ  คือ 


1. ลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์ https://plookganja.fda.moph.go.th/ และ แอปพลเคชั่นปลูกกัญ

2. จดแจ้งตามวัตถุประสงค์ 

3. รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนและแหล่งที่ปลูกกัญชา และกัญชงทั่วประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการแสวงหาวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานออกสู่ตลาด เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย





4. ห้ามนำเข้าสารสกัดจากทุกส่วนของพืช กัญชา - กัญชง


ในส่วนของการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง รวมทั้งกรณีนำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัว ซึ่งหมายถึงการนำติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และการส่งทางพัสดุ/ไปรษณีย์ระหว่างประเทศนั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้น เช่น ในกรณีของผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอางจะห้ามนำเข้า ส่วนกรณีของผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้น อยู่ระหว่างการจัดทำกฎระเบียบเพื่อห้ามนำเข้าและกรณียกเว้น


ทั้งนี้ อย. มีนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตและใช้วัตถุดิบที่มาจากการปลูกในประเทศ ขณะนี้มีกฎระเบียบที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อสนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด จำนวน 7 ฉบับ ซึ่ง อย. จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะต่อไป  






5. ห้ามใช้กัญชากับกลุ่มคน และผู้ป่วย ดังต่อไปนี้



 

ผู้ที่ห้ามใช้กัญชา ได้แก่


1.        หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

2.        ผู้ที่มีภาวะ ตับ หรือไตบกพร่องอย่างรุนแรง

3.        ผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี

4.        ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคจิต


6. ห้ามใช้กัญชาเองโดยไม่ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์


อาการไม่พึงประสงค์ และความเป็นพิษจากกัญชา ได้แก่

1.   ความดันเลือดต่ำ อาจทำให้เป็นลม และหมดสติได้

2.   การมองเห็นสีผิดปกติ และอารมณ์แปรปรวน

3.   พัฒนาการทางด้านสมองเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับ ความคิด ความจำ และการเรียนรู้

4.  หลอดลมอักเสบเรื้อรัง

5.  เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติทางจิต

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถ โทร สายด่วน อย. 1556 กด 3 ในวัน และเวลาราชการได้



อย่างไรก็ตาม สำหรับการผลิตแปรรูปส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชากัญชง เช่น ใบ ช่อดอก กิ่งก้าน ราก ไม่ต้องขออนุญาตยาเสพติด ส่วนสารสกัดถ้ามี THC เกิน 0.2% ถือเป็นยาเสพติด



7. ห้ามใช้ กัญชา กัญชง ให้เกิดควันในที่สาธารณะ มีความผิดตามกฎหมาย


ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565


โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุขหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าวข้างต้นจะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้ เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือ ผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 (5) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้


ข้อ 1. ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565”


ข้อ 2 ในประกาศนี้


“กัญชา” หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis เป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีสีเขียวอมเทา ใบเป็นแฉกเว้าลึกจนถึงโคนใบ ใบแต่ละแฉกยาวรี ขอบใบจักแบบฟันเลื่อย ดอกสีเขียว มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

“กัญชง” หมายความว่า ไม้ล้มลุกมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชา แต่ลักษณะต้นสูงกว่า ใบเรียวยาวและสีอ่อนกว่า มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท


ข้อ 3 กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เว้นแต่พืชที่มีกฎหมายอื่นควบคุมแล้ว จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข


ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป




ทั้งนี้ การก่อเหตุรำคาญใดๆ ต้องได้รับการวินิจฉัยจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเสียก่อน (ซึ่งโดยทั่วไปต้องอาศัย เจ้าพนักงานสาธารณสุขที่มีความรู้ ด้านการสาธารณสุข หรือการสุขาภิบาล หรือการอนามัยสิ่งแวดล้อม) เมื่อพบว่า บุคคลใดได้ก่อเหตุรำคาญขึ้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะออกคำสั่ง ให้ปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญนั้น หากไม่ปรับปรุงแก้ไข โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงจะมีโทศความผิด ตามมาตรา 74 กล่าวคือ มีความผิดฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งกรณีที่ขัดคำสั่ง ห้ามมิให้ใช้ หรือยินยอมให้ใช้สถานที่เอกชน ที่เกิดเหตุรำคาญ ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   




นอกจากนี้  มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ออกแถลงการณ์ คำแนะนำและข้อเสนอแนะของมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การใช้กัญชา 

ระบุว่า เนื่องด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุประเภทยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ไม่ระบุว่าพืชกัญชา รวมถึงส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ช่อดอก เป็นสารเสพติดให้โทษนั้น กัญชาเป็นพืชที่มีสารแคนาบินอยด์หลายชนิด


โดยเฉพาะสาร THC ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ เพราะอาจทำให้เกิดโทษรุนแรงได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลการใช้กัญชาอย่างรัดกุม

มหาวิทยาลัยมหิดล มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคม จึงมีข้อแถลงการณ์และข้อเสนอแนะดังนี้


1. ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี โดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อการพัฒนาการของสมองทั้งแม่และเด็ก

2. ไม่ใช่กัญชาเพื่อการสันทนาการโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย

3. ไม่ใช่ช่อดอกของกัญชาเพื่อผสมในอาหารและเครื่องดื่ม หากมีการผสมส่วนใด ๆ ของกัญชา ในอาหารและเครื่องดื่ม ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจน

4. ผู้ที่ใช้กัญชา ไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง

5. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคจิตประสาท โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ขอให้ปรึกษากับแพทย์ ที่ให้การรักษาก่อนใช้กัญชาเสมอ เพราะอาจมีผลต่อยาและการรักษาที่ได้รับอยู่

6. ผู้ปกครองและสถานศึกษา ควรดูแลให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากกัญชา รวมถึงประชาชน ควรร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชา

7. ขอให้ภาครัฐและภาคสังคม มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชา และอัตรายที่อาจเกิดขึ้น

8. ขอให้ภาครัฐ เร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้มีมาตรการและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการติดตามดูแลการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนและสังคม

ผู้ที่ต้องการใช้กัญชา ต้องศึกษาข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนเสมอ หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์และแจ้งข้อมูลการได้รับกัญชาอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องทันท่วงที

มหาวิทยาลัยมหิดลยินดีให้ข้อมูลและคำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับการใช้กัญชา ด้วยความมุ่งหวังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อสุขภาพและสังคมจากการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง




TNNONLINE รวบรวม

ที่มา สำนักอนามัย /กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ TNNONLINE 





ข่าวที่เกี่ยวข้อง