รีเซต

ผวาโรคอุบัติใหม่ 'ลัมปี สกิน' ในโค กระบือ ระบาดแล้ว 18 จังหวัด ปศุสัตว์ย้ำไม่ติดคน

ผวาโรคอุบัติใหม่ 'ลัมปี สกิน' ในโค กระบือ ระบาดแล้ว 18 จังหวัด ปศุสัตว์ย้ำไม่ติดคน
ข่าวสด
8 พฤษภาคม 2564 ( 07:24 )
260
ผวาโรคอุบัติใหม่ 'ลัมปี สกิน' ในโค กระบือ ระบาดแล้ว 18 จังหวัด ปศุสัตว์ย้ำไม่ติดคน

 

ข่าววันนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมปศุสัตว์ได้ตรวจพบโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่บ้านดอนแดง ต.แสนสุข อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการรายงานการเกิดโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) แล้วตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2564 โรคนี้เป็นโรคเฉพาะในโค กระบือไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน

 

 

 

ในช่วงที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ประสานหน่วยงานองค์กรภาครัฐเอกชน และมีมาตรการเชิงรุกในการควบคุม ป้องกันในพื้นที่ ในปัจจุบันพบการระบาดของโรคใน 18 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครพนม มหาสารคาม ขอนแก่น มุกดาหาร บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และเชียงราย ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้โรคแพร่ระบาดไปส่วนใหญ่มาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ ประกอบกับมีแมลงดูดเลือด ได้แก่ ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ ที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ

 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกิน ของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดแล้ว โดยเน้นการดำเนินการตามมาตรการหลักที่สำคัญ ดังนี้

 

 

1. เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์เกษตรกรให้รับรู้ลักษณะของโรคและสถานการณ์การระบาดของโรค รวมถึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมโคเนื้อ/โคนม ศูนย์รับนม สหกรณ์โคเนื้อ/โคนม ในการเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวัง ค้นหาโรค โดยการตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกซื้อขายสัตว์ ซื้อขายน้ำนมดิบ จากข้อมูลที่อาจบ่งบอกการเกิดโรคในฟาร์ม เช่น ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยลดลง หรือสงสัยการเกิดโรคทางอาการ ได้แก่ ซึม น้ำตาไหล น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร มีตุ่มนูนตามผิวหนังทั่วร่างกาย

 

 

ซึ่งอาจตกสะเก็ดและเกิดเป็นแผลหลุมในยะเวลาต่อมา ซึ่งหากตรวจพบฟาร์มที่สงสัย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทราบทันที ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 063-225-6888 เพื่อเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งตรวจสอบ เก็บตัวอย่างเพื่อยืนยันโรค ตลอดจนควบคุมโรคและแมลงพาหะโดยเร็ว

 

 

ทั้งนี้ หากกรณีเกษตรกรนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ ควรมีการกักแยกสัตว์ออกจากฝูงเพื่อสังเกตอาการ 28 วัน พร้อมทั้งกางมุ้งกันแมลงและให้ยาฆ่าแมลง เพื่อควบคุมแมลงพาหะ รวมถึงหมั่นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงสัตว์และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

 

 

2. เข้มงวดการควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ แหล่งรวมสัตว์ และตลาดนัดค้าสัตว์ รวมทั้งช่องทางการนำเข้าสัตว์ตามแนวชายแดน โดยให้เข้มงวดการตรวจรอยโรคในโค กระบือ ที่เคลื่อนย้านผ่านจุตรวจทุกตัว

 

 

3. ขอความร่วมมือจากพ่อค้าสัตว์ เกษตรกร งดการซื้อขายโค กระบือที่มาจากแหล่งที่เกิดโรค หรือจากพื้นที่ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค เพราะอาจได้สัตว์ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายและสามารถติดต่อไปยังโค กระบือตัวอื่นเมื่อนำเข้าร่วมฝูง เพราะโรคนี้ติดต่อโดยแมลงดูดเลือด และการสัมผัสกับของเหลวจากตุ่มเนื้องอกที่แตก

 

 

4. ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง

 

 

5. ให้การรักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เพื่อลดความสูญเสียแก่สัตว์ของเกษตรกร พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้วางแผนการนำวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินมาใช้สำหรับการควบคุมโรคในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้เร็วขึ้น ทั้งนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการนำเข้าวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการป้องกันและควบคุมการเกิดโรคลัมปี สกินอย่างเคร่งครัดแล้ว สัตว์ก็จะปลอดจากโรค โรคดังกล่าวก็จะหมดจากประเทศไทยได้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง