รีเซต

สรรพสามิตแจง ติด‘อี-แสตมป์’เบียร์ ช่วยรีดภาษีปีละ 8 พันล. โต้หาเงินช่วยตั้งพรรค

สรรพสามิตแจง ติด‘อี-แสตมป์’เบียร์ ช่วยรีดภาษีปีละ 8 พันล. โต้หาเงินช่วยตั้งพรรค
ข่าวสด
14 กรกฎาคม 2563 ( 18:40 )
156

 

สรรพสามิตแจงชัดติดอี-แสตมป์เบียร์ช่วยรัฐรีดภาษีพุ่งปีละ 8 พันล้าน ยกเครื่องระบบจัดเก็บเก่าใช้มานาน 30 ปี โต้หาเงินช่วยนักการเมืองตั้งพรรคใหม่

วันที่ 14 ก.ค. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกสินค้า ผ่านระบบเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ (Direct coding) หรือ อี-แสตมป์ สำหรับเบียร์ ซึ่งมีวงเงินดำเนินการ 8 พันล้านบาท เป็นการขอกรอบวงเงินสำหรับดำเนินโครงการจากรัฐบาล ซึ่งเป็นวงเงินที่ผูกพันการดำเนินงานในช่วง 7 ปี แต่การใช้จ่ายเงินจะมีการพิจารณาตามวงเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่โครงการนี้จะช่วยให้ภาษีเบียร์เพิ่มขึ้น 8 พันล้านบาทต่อปี

"กรอบวงเงินของโครงการ มาจากการนำประมาณการตัวเลขการผลิตที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.5 พันล้านยูนิตต่อปี ซึ่งเป็นยอดผลิต 5 ปีย้อนหลังมาเป็นฐานในการคำนวณมูลค่าโครงการ จนออกมาเป็นวงเงิน 8 พันล้านบาท ซึ่งไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวเกี่ยวกับการหาเงินไปสนับสนุนตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพราะจริง ๆ โครงการนี้เริ่มจากศูนย์เลย" นายพชร กล่าว

การดำเนินการโครงการนี้ จะเริ่มนับหนึ่งค่าใช้จ่ายเมื่อทุกสายการผลิตมีการติดตั้งเครื่องเรียบร้อย พร้อมเดินเครื่องทดสอบระบบ จนกระทั่งผู้ประกอบการและกรมสรรพสามิตเห็นชอบพร้อมกัน จึงจะเริ่มคิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากโครงการ โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าภายในต้นปี 2564 จะเริ่มดำเนินโครงการได้กับ 9 โรงงาน ใน 42 สายการผลิต

นายพชร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเก็บภาษีเบียร์ที่ใช้ระบบโฟลว์มิเตอร์สอบทาน เป็นระบบเก่าซึ่งใช้มากกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2526 แล้ว ซึ่งขณะนั้นอุตสาหกรรมเบียร์ และการเก็บภาษีเบียร์ยังไม่โตขนาดนี้ โดยมีการเสียภาษีเพียงปีละ 2,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันภาษีเบียร์เพิ่มเป็น 7-8 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยกระทรวงการคลังจึงกำหนดยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 2560 ให้กรมฯเร่งนำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้นำคิวอาร์โค้ดมาใช้กับภาษีบุหรี่ และสุราไปแล้ว และหลังจากนี้จะเริ่มปรับปรุงใช้กับเบียร์

สำหรับการเก็บภาษีด้วยระบบไดเร็คท์ โคดิงในสินค้าเบียร์ กรมฯได้เปิดให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมประมูล เพื่อรับบริหารจัดการพิมพ์รหัสการเสียภาษีบนกระป๋องและขวดเบียร์ โดยกรมสรรพสามิตไม่ต้องลงทุนเอง หรือใช้งบประมาณจากรัฐแต่อย่างใด เพียงแต่จะแบ่งค่าดำเนินการพิมพ์บนขวดหรือกระป๋องละ 25 สตางค์แทน ซึ่งเป็นต้นทุนพอๆกับที่กรมฯพิมพ์แสตมป์เอง ที่สำคัญระบบนี้ยังได้รับการเห็นด้วยจากโรงงานผลิตเบียร์ที่พร้อมปฏิบัติตาม และระหว่างที่ใช้ระบบใหม่นี้ ก็จะมีศึกษาถึงข้อดีข้อด้อยนำไปปรับปรุงแก้ไขควบคู่กันด้วย

นายพิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ 3 แห่ง มีกำลังการผลิต 1,540 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งทุกโรงงานพร้อมดำเนินการตาม แนวทางการจัดเก็บภาษีที่กรมสรรพสามิตพิจารณาแล้วว่าเหมาะสม เพื่อให้การเก็บภาษีตรงไปตรงมาที่สุด โดยเรื่องนี้บริษัทไม่ต้องลงทุนเอง แต่กรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ดำเนินการให้

นายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักภาษีแลรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะให้โรงงานผลิตเบียร์ทั้ง 3 โรง ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงการคลังเต็มที่ ในการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีใหม่ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง