รีเซต

สรรพสามิตคุมเข้มค่ายรถแจงต้นทุนรถอีวี สั่งห้ามไมเนอร์เชนจ์ 2 ปี หวังผู้บริโภคได้ส่วนลดเต็มเม็ด

สรรพสามิตคุมเข้มค่ายรถแจงต้นทุนรถอีวี สั่งห้ามไมเนอร์เชนจ์ 2 ปี หวังผู้บริโภคได้ส่วนลดเต็มเม็ด
มติชน
16 มีนาคม 2565 ( 21:33 )
62
สรรพสามิตคุมเข้มค่ายรถแจงต้นทุนรถอีวี สั่งห้ามไมเนอร์เชนจ์ 2 ปี หวังผู้บริโภคได้ส่วนลดเต็มเม็ด

สรรพสามิต คุมเข้ม ให้ค่ายรถแจงต้นทุนราคารถอีวี ห้ามไมเนอร์ เชนจ์ ให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ส่วนลด-ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.  นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯ ได้วางแนวทางกำกับดูแลมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเงินส่วนลดจากมาตรการภาษีและเงินอุดหนุนของรัฐบาล จะตกถึงมือผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยกำหนดให้ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ จะต้องดำเนินการตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ให้แจ้งโครงสร้างราคา ต้นทุนการนำเข้า ค่าบริหารจัดการ และส่วนลดที่จะมอบให้กับลูกค้า มาให้กรมฯพิจารณาอนุมัติก่อน เพื่อให้ลูกค้าได้รับส่วนลดจากเงินอุดหนุน และมาตรการภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

นายณัฐกร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ค่ายรถยนต์ ห้ามไมเนอร์ เชนจ์ หรือมีการปรับโฉม เช่น เปลี่ยนอุปกรณ์ ฟังก์ชั่นการใช้ทำงานเพียงเล็กน้อยเพื่อขึ้นราคาเป็นเวลา 2 ปี รวมถึงห้ามนำเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล ไปใช้ในส่วนลดกำไรมาตรฐานกับลูกค้า เพราะปกติตัวแทนจำหน่าย ดีลเลอร์ กับค่ายรถยนต์ จะมีส่วนของแถมส่วนลดให้ลูกค้า เช่น แถมไฟตัดหมอก ล้อแม็ก หรือให้ส่วนลดตัวเงินอยู่แล้ว แต่ส่วนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้นี้จะเป็นส่วนลดเพิ่มเติม ไม่รวมกับโปรโมชั่น หรือส่วนลดที่ดีลเลอร์แต่อย่างใด

 

“เรื่องนี้กรมฯ ตั้งใจดูแลอย่างรอบคอบ เพื่อการันตีว่าเงินของรัฐที่จ่ายอุดหนุน รวมถึงการลดภาษีจะไม่รั่วไหล และไปถึงมือผู้บริโภคอย่างครบถ้วน เพราะเงื่อนไขการให้เงินอุดหนุนมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้ารอบนี้ จะไม่เหมือนกับโครงการรถคันแรก ซึ่งในสมัยนั้น รถคันแรกจะเป็นการคืนเงินภาษีเท่ากับที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ให้แก่ประชาชนที่ซื้อและครอบครองรถยนต์ไปแล้ว 1 ปี โดยผู้ซื้อต้องมาติดต่อกับหน่วยงานรัฐเพื่อรับเงินภาษีคืนเอง แต่ในส่วนมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ ภาครัฐจะให้เงินอุดหนุนโดยตรงกับดีลเลอร์ เพื่อให้ผู้ขายไปลดราคาให้กับลูกค้าต่ออีกทอด ไม่เป็นภาระแก่ผู้ซื้อในการต้องมาขอรับเงินอุดหนุนภายหลัง ซึ่งสะดวกกับคนซื้อมากกว่า”นายณัฐกร กล่าว

 

นายณัฐกร กล่าวว่า สำหรับส่วนลดราคารถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้จากการเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนอีวี จะได้รับสูงสุดถึง 3 ต่อ ต่อแรกเป็นการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าจาก 8% ลดเหลือ 2% ต่อที่สองได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามขนาดแบตเตอรี่ รถยนต์ 7 หมื่น -1.5 แสนบาทต่อคัน รถจักรยานยนต์ 1.8 หมื่นบาทต่อคัน และต่อสุดท้ายได้รับการลดอากรขาเข้าของรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน หากมีราคาไม่เกินคันละ 2 ล้านบาท ได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ส่วนรถยนต์ที่มีราคาแนะนำ 2-7 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดสูงสุด 20% เท่ากับว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาขาย คันหนึ่งจะลดลงไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้มีความชัดเจนที่ค่ายรถจะเข้ามาเซ็นสัญญาเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 2 ค่ายจากประเทศจีน คือ เอ็มจี และเกรท วอลล์ มอเตอร์ โดยจะเซ็นสัญญากันในสัปดาห์หน้าแทนสัปดาห์นี้ ส่วนค่ายฮอนด้า และค่ายอื่นยังอยู่ระหว่างพิจารณา และจะทยอยเข้าร่วมกันภายหลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง