คลังปรับภาษีรถยนต์โบราณ รายได้เพิ่ม 2 พันล้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้มาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยมาตรการดังกล่าวมีจำนวน 4 มาตรการย่อย ได้แก่
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้องานศิลปะ
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ
มาตรการลดหรือยกเว้นภาษีอากรขาเข้างานศิลปะ
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมรถยนต์โบราณ (Classic Cars)
สำหรับการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีสำหรับมาตรการภาษีรถยนต์โบราณฯ ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ดังนี้
1. เห็นชอบการเพิ่มคุณสมบัติของรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ให้ครอบคลุมถึงรถยนต์ที่มีอายุเกิน 100 ปี
2. เห็นชอบในหลักการของแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตหรือบูรณะ (Restoration) รถยนต์โบราณ (Classic Cars) โดยให้รถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่นำเข้าและมีการบูรณะภายในประเทศ และส่งออกภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่ได้มีการนำเข้าสำเร็จ มีสิทธิได้รับคืนภาษีเต็มจำนวนในกรณีส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมาย
3. เห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดแนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในด้าน ภาษีอากรภายใต้มาตรการภาษีรถยนต์โบราณฯ ได้แก่
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการภาษีรถยนต์โบราณฯ มีความครอบคลุมถึงรถยนต์นั่งและรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 100 ปี นอกจากจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศให้เกิดการจ้างงานและการพัฒนาความรู้และทักษะของแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือบูรณะรถยนต์โบราณ ยังเป็นการอำนวยรายได้ให้แก่รัฐบาล
ซึ่งกรมสรรพสามิตได้ประมาณการว่า หากมีการดำเนินมาตรการภาษีรถยนต์โบราณฯ จะสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนอกจากจะสามารถจัดเก็บภาษีสรรพสามิตแล้ว การนำเข้ารถยนต์โบราณ (Classic Cars) มาในประเทศยังส่งผลให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มเติมจากเม็ดเงินที่หมุนเวียนในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง