TTAค่าระวางถีบตัว ดีมานด์ขนส่งทะลัก
#TTA #ทันหุ้น - TTA มองความต้องการขนส่งปี 65 ขยายตัวต่อ 2.5% ชี้ซัพพลายที่ยังต่ำดันค่าระวางเฉลี่ยปีนี้ที่ระดับ 2.5-3 หมื่นดอลลาร์ต่อวันต่อลำ วางงบ 1.5 พันล้านบาท จัดซื้อเรือลำใหม่ พร้อมเดินหน้ามองหาการลงทุนใหม่ๆ ด้านบริษัทย่อย TLPG-TFSO อยู่ระหว่างประมูลงานใหม่
นายคทารัฐ สุขแสวง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมเรือเทกองในปี 2565 ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการเติบโตของกองเรือมีจำกัด ขณะที่ความต้องการถ่านหินและสินค้าเทกองย่อย (Minor Bulk) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยบริษัทมีมูลค่างานให้บริการที่รอส่งมอบ (Order Book) จำนวน 292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดรับรู้ในปีนี้ 65% และปีหน้า 35%
*ค่าระวางถีบตัวสูง
ทั้งนี้ ประเมินอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจ (TCE) ในช่วงไตรมาส 1/2565 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับราว 20,000 ดอลลาร์ต่อวันต่อลำ ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน
ส่วนอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจ ในช่วงไตรมาส 2-3 และ 4/2565 จะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 25,000-30,000 ดอลลาร์ต่อวันต่อลำ ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี แม้ว่าตอนนี้จะมีปัจจัยกดดันจากปัญหาการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงราคาต้นทุนน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงก็ตาม
ในส่วนของความแออัดของพอร์ต (Port Congestion) ในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 6% แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน แต่ก็ยังไม่สูงนักเพราะยังมีเรื่องของการระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยจากการควบคุมโรคระบาดของแต่ละประเทศทำให้ยังใช้เวลามากกว่าปกติ และอาจส่งผลทำให้การส่งมอบสินค้านั้นเป็นไปได้อย่างไม่รวดเร็วนัก ในขณะที่อัตราการเติบโตของกองเรือปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.1% และปี 2566 ที่ 0.3% ทำให้มองว่าดีมานด์ยังคงมีแนวโน้มเติบโตที่ 2.5% และ 1.7% ตามลำดับ ซึ่งยังสูงกว่าซัพพลาย
**เดินหน้าลงทุน
แผนการลงทุนในปี 2565 บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งในช่วงต้นปีนี้ได้มีการซื้อเรือ Offshore เข้ามาเพิ่ม จำนวน 1 ลำ บริษัทยังคงมีความสนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนเรือลำใหม่เข้ามาเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี การซื้อเรือลำใหม่เข้ามาเพิ่มในกองเรือนั้น อาจต้องพิจารณาหลายอย่าง ทั้งเรื่องสภาวะทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของสถานการณ์ ส่วนเรื่องของเงินทุนนั้นไม่ได้เป็นที่หน้ากังวล เพราะบริษัทยังมีเงินทุนที่ถูกเก็บไว้รองรับเหลืออยู่อีก มองว่าเพียงพอรองรับการลงทุนดังกล่าว
ขณะเดียวกันบริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อย ประกอบด้วย บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด (P80A) ธุรกิจสายการบิน (Airline Business) มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการทำธุรกิจ โดยบริษัทมองเห็นโอกาสจึงจัดตั้งบริษัทย่อยดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบ และมีเครื่องบินจอดทิ้งไว้มากกว่า 2,000 ลำ
ส่วน บริษัท โทรีเซน แอลพีจี จำกัด (TLPG) ธุรกิจเรือขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม และ บริษัท โทรีเซน เอฟเอสโอ จำกัด (TFSO) ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบสำหรับแท่นขุดเจาะน้ำมันนั้น ปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทอยู่ระหว่างกระบวนการประมูลงานใหม่เพิ่มเติม