คณะศัลยแพทย์สหรัฐฯ ทดลองการปลูกถ่ายไตหมูในมนุษย์ได้สำเร็จ
ทีมศัลยแพทย์สหรัฐฯ กล่าวว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตหมูให้กับมนุษย์ ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะบริจาคได้ในที่สุด
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตในครั้งนี้อยู่ในภาวะสมองตาย กล่าวคือ เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีโอกาสฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติ แต่ยังอยู่ได้ด้วยเครื่องประคองชีวิต
ไตที่นำมาใช้ปลูกถ่ายมาจากหมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อยับยั้งไม่ให้ร่างกายรับรู้ว่าเป็น "สิ่งแปลกปลอม" และถูกร่างกายปฏิเสธ
การทดลองนี้ยังไม่มีการตีพิมพ์ผลงานในวารสารหรือยังไม่ได้มีการตรวจทานโดยคณะผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ทีมศัลยแพทย์มีแผนนำเสนอผลงานดังกล่าวเพื่อให้ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการด้วย
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นี่เป็นการทดลองที่ล้ำหน้าที่สุดในวงการการแพทย์ โดยก่อนหน้านี้เคยมีการทดลองแบบเดียวกันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงเท่านั้น แต่นี่ถือเป็นการปลูกถ่ายในมนุษย์เป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ดี การปลูกถ่ายอวัยหมูไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะมีการใช้ลิ้นหัวใจหมูในมนุษย์อย่างแพร่หลาย และอวัยวะของพวกมันก็มีขนาดที่พอเหมาะพอดีกับร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว
ทีมศัลยแพทย์ใช้เวลาผ่าตัด 2 ช.ม. ที่ศูนย์การแพทย์แลนกอน เฮลท์ (Langone Health) ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในการเชื่อมต่อไตจากหมูผู้บริจาคกับหลอดเลือดของผู้รับซึ่งเป็นคนไข้ที่อยู่ในภาวะสมองตาย เพื่อดูว่าอวัยวะนั้น ๆ จะทำงานได้ตามปกติหรือถูกปฏิเสธเมื่อได้รับการปลูกถ่ายสู่มนุษย์
พวกเขาได้เฝ้าติดตามการทำงานของไตอย่างใกล้ชิดในช่วง 2 วันครึ่งหลังการผ่าตัด ผ่านการทดสอบหลายต่อหลายครั้ง
ดร. โรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวกับบีบีซีว่า "เราสังเกตเห็นว่า ไตจากหมูทำงานคล้ายคลึงกับไตของมนุษย์ที่ใช้ปลูกถ่ายโดยทั่วไป และยังดูเหมือนว่าจะเข้ากับร่างกายได้ดีพอ ๆ กับไตสภาพปกติของมนุษย์"
"มันทำงานได้ตามปกติและดูเหมือนจะไม่ถูกร่างกายปฏิเสธ"
ศัลยแพทย์ยังได้ทำการปลูกถ่ายต่อมไทมัสของหมูบางส่วนไปพร้อมกับไตด้วย พวกเขาคิดว่าต่อมไทมัสอาจช่วยยับยั้งร่างกายมนุษย์ไม่ให้ปฏิเสธไตหมูในระยะยาว ด้วยการทำหน้าที่กำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่อาจเล็ดรอดออกมาต่อสู้กับเนื้อเยื่อของหมู
ดร. มอนต์โกเมอรี เองก็เคยเป็นผู้รับการปลูกถ่ายหัวใจมาก่อนหน้านี้ เขากล่าวว่า การหาอวัยวะทดแทนสำหรับผู้ที่รอการบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แม้ว่าเขาจะยอมรับว่างานของเขายังคงเป็นที่ถกเถียง
"กรอบความคิดดั้งเดิมที่ว่า คนบางคนต้องตายเพื่อให้อีกคนมีชีวิตอยู่นั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว"
"ผมเข้าใจถึงความกังวลอย่างแน่นอน และผมบอกได้ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยประมาณ 40% ที่รอรับอวัยวะบริจาคและต้องเสียชีวิตก่อนที่พวกเขาจะได้รับอวัยวะนั้น ๆ"
"เรามีหมูเป็นแหล่งอาหาร เราใช้หมูในการรักษาโรค เช่น การใช้ลิ้นหัวใจหรือใช้ทำยา ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ได้แตกต่างกันขนาดนั้น"
เขากล่าวว่า นี่เป็นเพียงการวิจัยในขั้นต้นและจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และกล่าวเสริมว่า "ผมคิดว่ามันทำให้เรามีความมั่นใจใหม่ว่าวิธีการนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการรักษาผู้ป่วยตามสถานพยาบาล"
ครอบครัวของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจากหมู ซึ่งเคยแสดงเจตนารมณ์ว่าอยากเป็นผู้บริจาคอวัยวะ อนุญาตให้ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดผู้ป่วยได้
หน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้อนุมัติการใช้อวัยวะหมูดัดแปลงพันธุกรรมสำหรับการวิจัยประเภทดังกล่าว
ดร. มอนต์โกเมอรี เชื่อว่า ภายในหนึ่งทศวรรษ อวัยวะหมูชนิดอื่น ๆ เช่น หัวใจ ปอด และตับ จะสามารถนำมาใช้ในมนุษย์ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะได้
พญ. แมรีแอม โคสราวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไตและอภิบาลผู้ป่วยหนัก ที่ทำงานให้กับสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) กล่าวว่า "การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่คนเป็นสิ่งที่เราได้ศึกษามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และมันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่เห็นคณะแพทย์เริ่มก้าวไปข้างหน้า"
แต่ในมุมมองทางจริยธรรม เธอกล่าวว่า "เพียงเพราะเราทำได้ ไม่ได้หมายความว่าเราควรทำ ฉันคิดว่าวงการแพทย์ในวงกว้างจะต้องตอบข้อสงสัยเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน"
โฆษกของสำนักงานโลหิตและการปลูกถ่ายอวัยวะ (NHS Blood and Transplant) กล่าวว่า การจับคู่ผู้บริจาคที่เป็นมนุษย์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในตอนนี้ และ "จำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์จะนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายได้จริง"
"ในขณะที่นักวิจัยและทีมแพทย์ยังคงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เรายังคงต้องการให้ทุกคนตัดสินใจเป็นผู้บริจาคอวัยวะ และแจ้งให้ครอบครัวทราบถึงสิ่งที่ต้องการหากพวกเขาสามารถเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้"
...............
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว