เปิดขั้นตอน ปลูกถ่ายอวัยวะ ช่วยผู้ป่วยระยะสุดท้าย
การปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะ“หัวใจ” เป็นความหวังของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่น แต่การได้มาซึ่งอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่ายไม่ใช่ง่าย นอกจากจะต้องรอคิวจากผู้บริจาคแล้ว อวัยวะอย่างเช่น หัวใจ ผู้บริจาคและผู้ป่วยต้องมีขนาดตัวใกล้เคียงกัน และกรุ๊ปเลือดเดียวกัน อีกทั้งยังต้องดำเนินการภายใต้เวลาที่จำกัด
รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า ประเทศไทยใช้วิธีการจัดเก็บหัวใจจากผู้บริจาคโดยใช้น้ำยาและความเย็น ซึ่งวิธีนี้หัวใจจะสามารถอยู่ได้ 4 ชั่วโมง หลังจากพ้น 4 ชั่วโมงไปแล้วคุณภาพของการเต้นหัวใจจะค่อยๆลดลง
หัวใจที่จะสามารถบริจาคได้ ต้องเป็นหัวใจที่มีอัตราการเต้นดี ผู้บริจาคต้องไม่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิต และไม่มีประวัติสูบบุหรี่มาอย่างยาวนาน ซึ่งเมื่อผู้บริจาคได้มีการแจ้งความจำนงบริจารคไว้และแพทย์ที่เกี่ยวข้องต้องมีการตรวจวินิจฉัยและลงความเห็นว่าผู้บริจาคสมองตายก็จะทำการผ่าตัดเพื่อนำหัวใจไปใช้
สำหรับขั้นตอนการรับบริจาคอวัยวะเพื่อรอปลูกถ่าย ผู้ป่วยจะต้องแจ้งความจำนงไว้กับโรงพยาบาลที่รักษา ทางสภากาชาดไทยจะรวบรวมรายชื่อไว้ โดยจะเรียงลำดับตามอาการของผู้ป่วยที่มีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุดในระยะเวลารายสัปดาห์ เมื่อได้รับอวัยวะแล้ว ทางโรงพยาบาลจะเตรียมทีมแพทย์ผ่าตัดหัวใจ พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลจำนวน 3 คน เดินทางไปร่วมทำงานกับโรงพยาบาลต้นทางของผู้ที่บริจาคอวัยวะเพื่อนำอัยวะกลับมาปลูกถ่าย หากเป็นพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯก็จะใช้รถพยาบาลในการเดินทางและส่งต่ออวัยวะ แต่หากเป็นพื้นที่ต่าง จังหวัด ก็จะใช้เครื่องบิน แต่หากเป็นจังหวัดที่ไม่มีสนามบิน ก็จะมีการแจ้งความจำนงไปยังนักบินจิตอาสา
นพ.ประวัฒน์ โฆสิตะมงคล ประธานคณะกรรมการดำเนินการงานเปลี่ยนอวัยวะศิริราช เปิดเผยว่า การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของโรงพยาบาลศิริราช เริ่มมาตั้งแค่ ปี 2516
สถิติการปลูกถ่ายอวัยวะ ตั้งแต่ปี 2516- ปัจจุบัน
ปลูกถ่ายไต รวม 1,137 ราย
ปลูกถ่ายตับ 449 ราย
ปลูกถ่ายหัวใจ 128 ราย
ปลูกถ่ายปอด 7 ราย
ปลูกถ่ายตับอ่อน 2 ราย
ปลูกถ่ายลำไส้ 1 ราย
นอกจากนี้ยังมีการปลูกถ่าย 2 อวัยวะร่วมกันในผู้ป่วยรายเดียว แบ่งเป็น
ปลูกถ่ายหัวใจกับปอด ในผู้ป่วย6 ราย
ปลูกถ่ายตับร่วมกับไต 14 ราย
ปลูกถ่ายไตร่วมกับตับอ่อน รวม 19 ราย
ปลูกถ่ายหัวใจร่วมกับไต 9 ราย
ในปี 2560 โรงพยาบาลศิริราชได้ทำการปลูกถ่าย 3 อวัยวะ คือ หัวใจ ตับไต พร้อมกัน ให้กับผู้ป่วยรายเดียว ครั้งแรกในเอเชีย
โรงพยาบาลศิริราช จึงเชิญชวนประชาชนให้ร่วมทำบุญใหญ่ บริจาคอวัยวะ ในวันสุดท้ายของชีวิต เพื่อส่งต่อลมหายใจให้กับผู้อื่น ซึ่งอัตราการบริจาคอวัยวะของประเทศไทยถือว่าอยู่ในลำดับที่ใช้ได้ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี