รีเซต

ไข้หวัดใหญ่ระบาด! พบ เด็กอีสานใต้ ป่วยแล้วกว่า 5,000 คน

ไข้หวัดใหญ่ระบาด! พบ เด็กอีสานใต้ ป่วยแล้วกว่า 5,000 คน
TNN ช่อง16
28 พฤษภาคม 2567 ( 11:33 )
31

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคช่วงเฉพาะสถานศึกษาเปิดเทอม ว่า ในช่วงฤดูฝน จะมีความชื้นสูง เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งโรงเรียนทุกแห่งได้เปิดเทอมกันแล้ว ทำให้มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ซึ่งโรคที่มักจะแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนมีหลายโรค อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปาก  ทาง


สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 มีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนที่เป็นเด็กเล็กและเด็กประถม ซึ่งในขณะที่มีการเรียนการสอนและทำกิจกรรมร่วมกัน อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่าย และโรคมือเท้าปาก ก็มักจะพบบ่อยในโรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก


สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ในพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ช่วงตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 – 4 พฤษภาคม 2567 มีผู้ป่วยสะสมมากถึง 13,862 ราย และผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย 


โดยสถานการณ์โรค 8 สัปดาห์ย้อนหลัง (สัปดาห์ที่ 10–17) มีผู้ป่วย 5,081 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด  2,937 ราย รองลงมาคือ  จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1,005 ราย ,  จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 604 ราย และ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 535 ราย  ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ


ในขณะที่สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 – 4 พฤษภาคม 2567 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,358 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยสถานการณ์โรค 8 สัปดาห์ย้อนหลัง (สัปดาห์ที่ 10-17) มีผู้ป่วย 372 ราย แยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 164 ราย ,  จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 111 ราย ,  จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 67 ราย และ จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 30 ราย  โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ


ดังนั้น จึงขอให้ป้องกันตนเองและบุตรหลานด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ส่วนโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ควรคัดกรองนักเรียนก่อนเข้าห้องเรียน และทำความสะอาดอุปกรณ์-ข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจต้องพิจารณาปิดชั้นเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ 


ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีไข้ร่วมกับมีแผลในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ควรรีบไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียน ไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัว รวมทั้ง หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานที่มีอาการป่วยไปในที่ชุมชน เช่น สนามเด็กเล่น บ้านบอล ห้างสรรพสินค้า เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการระบาดในชุมชน








ข่าวที่เกี่ยวข้อง