รีเซต

ลูกหนี้ กยศ. ต้องรู้! เปิดวิธีคำนวณหนี้แบบใหม่ ยอดลดเร็ว-จ่ายเกินมีคืนให้

ลูกหนี้ กยศ. ต้องรู้! เปิดวิธีคำนวณหนี้แบบใหม่ ยอดลดเร็ว-จ่ายเกินมีคืนให้
TNN ช่อง16
15 พฤศจิกายน 2566 ( 19:45 )
135
ลูกหนี้ กยศ. ต้องรู้! เปิดวิธีคำนวณหนี้แบบใหม่ ยอดลดเร็ว-จ่ายเกินมีคืนให้

ลูกหนี้ กยศ. ต้องรู้ เปิดวิธีคำนวณหนี้แบบใหม่ ยอดลดเร็ว หากชำระคืนครบแล้วพบว่ามีการชำระไว้เกินจากที่คำนวณใหม่ ก็จะได้เงินคืน


เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กฎหมายลำดับรอง ของ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2566 ได้เริ่มมีผลแล้ว


วิธีคำนวณ หนี้กยศ. ใหม่


กยศ.จะมีการปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ โดยจะนำเงินที่ผู้กู้ยืมมาชำระให้กับ กยศ.ไปหักเงินต้นก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นตามด้วยดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จากเดิมที่เป็นการตัดเบี้ยปรับก่อน แล้วตามด้วยดอกเบี้ย และเงินต้นในลำดับสุดท้าย


การเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่นี้ จะส่งผลให้ยอดหนี้สามารถปรับลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลบังคับใช้กับลูกหนี้ กยศ.ในปัจจุบันทุกราย ซึ่งมีประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่ง ลูกหนี้ กยศ.จะต้องมีการแก้ไขยอดหนี้ในระบบหลักของ กยศ. โดยจะคำนวณใหม่ทุกราย การคำนวณใหม่นี้จะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เริ่มผ่อน ซึ่งจะเห็นว่าภาระหนี้ลดลงอย่างชัดเจน


ลูกหนี้ที่ผ่อนมาแล้ว เมื่อคำนวณใหม่ จะมีกลุ่มที่ยอดหนี้ลดลงอย่างชัดเจน และอาจมีบางกลุ่มที่ยังผ่อนอยู่และยังผ่อนไม่หมด แต่พอคำนวณใหม่อาจจะปิดยอดได้เลย ส่วนลูกหนี้ที่ได้ปิดยอดไปแล้ว กยศ.จะไปคำนวณให้ใหม่ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง


ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กยศ. จะมีการสร้างซอฟแวร์แบบง่ายๆ ซึ่งสามารถคำนวณด้วยมือให้ก่อน ในกลุ่มลูกหนี้ที่เร่งด่วน คือ กลุ่มแรก เป็นลูกหนี้ที่กรมบังคับคดีดูแลอยู่ เช่น ลูกหนี้ที่ฟ้องอายัด กลุ่มนี้ กยศ.จะคำนวณก่อน ซึ่งมีประมาณ 46,000 ราย และจะดำเนินการให้เสร็จภายใน ธ.ค.นี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้


ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่หมดอายุความในเดือนมี.ค. 67 มีประมาณ 40,000 ราย ก็จะนำคำนวณใหม่ด้วยมือเช่นกัน แต่หากเราทำได้เร็ว จะมีการดึงลูกหนี้กยศ.กลุ่มอื่นๆ มาคำนวณด้วยมือให้มากที่สุด ก่อนที่ระบบหลักจะแล้วเสร็จ


ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมาย กยศ. ฉบับเดิม ทำให้ผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กยศ.มีความยากลำบากในการชำระคืนเงินกู้ แต่จากกฎหมายฉบับใหม่ที่มีผลเมื่อ 20 มี.ค.66 มีการคิดดอกเบีย และเบี้ยปรับในอัตราที่ลดลงจากเดิมมาก ซึ่งจะส่งผลให้ลูกหนี้ กยศ. มีความสามารถในการชำระคืนหนี้ได้ดีขึ้น


นอกจากนี้ ในการคำนวณยอดหนี้ตามระบบใหม่ในส่วนของลูกหนี้ กยศ.ที่ชำระคืนครบแล้ว ถ้ากยศ.พบว่ามีการส่งชำระไว้เกินจากที่คำนวณใหม่ กยศ.ก็จะคืนเงินให้ด้วย


“วันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญ จึงอยากให้สถาบันการศึกษา ผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน ได้ทราบข่าวดีนี้ กยศ.พร้อมจะทำงานกับพวกท่าน ช่วยทำให้ภาระหนี้ลดลง นี่ถือว่าเป็นข่าวดีที่สุดในรอบปี” นายกิตติรัตน์ ระบุ


สำหรับลูกหนี้ กยศ.ที่อยู่ในชั้นของการบังคับคดี เช่น รายที่ถูกยึดทรัพย์ และรอการขายทอดตลาด ทาง กยศ.ก็จะคำนวณยอดหนี้ให้ใหม่เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีการคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้ว ความจำเป็นในการนำทรัพย์ไปขายทอดตลาดแทบจะไม่มีเลย เพราะยอดหนี้จะถูกปรับลดลงไปมาก


ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่มีภาระเป็นผู้ค้ำประกันให้กับลูกหนี้ กยศ.ทุกคน จะหลุดพ้นภาระการค้ำประกันตั้งแต่ ม.ค.67 เป็นต้นไป หลังจากที่ กยศ.จะเปิดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเมื่อลูกหนี้ กยศ.เข้ามาเซ็นการปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันจะพ้นภาระความรับผิด


ทั้งนี้ กยศ.จะเริ่มเปิดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ในกรุงเทพฯ ก่อน จากนั้นจะทยอยเปิดในภูมิภาคต่อไป


นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กยศ.มีการปล่อยกู้ไปแล้ว 7 แสนล้านบาท มีผู้กู้ 7 ล้านคน วันนี้มีผู้กู้ปิดบัญชีไปแล้ว 2 ล้านคน อยู่ระหว่างการศึกษา 1.3 ล้านคน และอีก 3.5 ล้านคน อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ มีภาระหนี้ที่หมุนเวียนอยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาท


ทั้งนี้ ในจำนวน 4 แสนล้านบาท อยู่ในกรมบังคับคดีหลายหมื่นคดี โดยเฉลี่ย 1 คน ยอดหนี้อยู่ที่ 1.2 แสนบาท โดยในขณะนี้ กยศ.ดำเนินการยึดทรัพย์ ชะลอการฟ้อง และชะลอการขายทอดตลาด


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของลูกหนี้ที่สามารถผ่อนได้ปกติก็ขอให้ผ่อนต่อไป เพื่อส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้อง แต่ถ้าผิดนัดชำระหนี้ กยศ. ก็จะเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้




ภาพจาก Getty Images / กยศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง