รีเซต

เมื่อ LEGO "ลอยขึ้นไปบนฟ้า" จะเกิดอะไรขึ้น ?

เมื่อ LEGO "ลอยขึ้นไปบนฟ้า" จะเกิดอะไรขึ้น ?
TNN ช่อง16
31 พฤษภาคม 2566 ( 16:39 )
101



ข่าวนี้น่าจะทำให้แฟน LEGO (เลโก้) ฟินกันเป็นแถว เมื่อบริษัทเอเจนซี่ในกรุงปราก ร่วมมือกับบริษัทด้านเทคหลายหน่วยงาน จัดส่ง "โมเดลนักบินอวกาศ LEGO" ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ !!


นักบิน 999 ตัว กับภารกิจลอยขึ้นไปชั้นบรรยากาศ !


เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา ณ สนามบิน Malé Bielice (มาเล่ บีลิซ) ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเมืองปาร์ติซานสเก ประเทศสโลวาเกีย ได้มีการส่งนักบินอวกาศ LEGO จำนวน 999 ตัว บินขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อทำการโปรโมทสินค้าของ LEGO ในสาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกีย


ตัวยานที่ส่งขึ้นไปเป็นยานลำเล็ก ๆ สร้างขึ้นจากเทคโนโลยี 3D Print (พิมม์สามมิติ) มีรูปทรงเป็นกระสวยอวกาศแบบเปิดประทุน มีการติดกล้องและตัวโมเดลเอาไว้ภายใน ตัวกระสวยจะถูกผูกติดกับบอลลูน ก่อนจะส่งให้ลอยขึ้นไปบนฟ้า ทางทีมงานได้สร้างกระสวยออกมาทั้งหมด 3 ลำ แต่ละลำบรรจุโมเดลไว้ 333 ตัว


ตัวยานสามารถลอยไปได้ถึงชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟีย หรือที่ระดับความสูง 35,564 เมตร ซึ่งมีอุณหภูมิติดลบที่ -70°C (องศาเซลเซียส) ก่อนตัวบอลลูนจะแตกออก และส่งตัวกระสวยกลับสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพที่ติดเอาไว้ ตัวยานสามารถลงสู่พื้นโลกได้สำเร็จในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยที่โมเดลและตัวกระสวยทั้งหมดยังอยู่ครบถ้วน




การออกแบบที่ไม่ให้ตัวโมเดล "หลุดออกจากกระสวย"


แคมเปญนี้ดูแลและดำเนินการโดย Kreativ Gang (ครีเอทีฟแก๊ง) บริษัทเอเจนซี่ในกรุงปราก ซึ่งร่วมมือกับบริษัทออกแบบดาวเคราะห์ XTEND DESIGN (เอ็กซ์เทนด์ ดีไซน์) สถาปนิกของ NASA (นาซ่า) บริษัท LEGO Group และ สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ หุ่นยนต์ และไซเบอร์เนติกสแห่งสาธารณรัฐเช็ก (Czech Institute of Informatics, Robotics and Cybernetics experts)




สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในแคมเปญนี้ คือช่วงเวลาตกของกระสวย ทางทีมงานต้องการให้ตัวโมเดลนักบินอวกาศทั้งหมด ยังคงนั่งอยู่บนตัวยานอย่างครบถ้วน นั่นทำให้ทางทีมงานต้องคำนวณความเร็วในการตก รวมไปถึงหาวิธีที่ไม่ให้โมเดลหลุดออกมา จากการคำนวณพบว่าตัวกระสวยจะตกลงมาด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงถือเป็นภารกิจที่ท้าทายมาก ๆ ในการทำให้โมเดลทั้งหมดยังติดอยู่กับตัวยาน




โดยการทำให้ตัวโมเดลนักบินอวกาศยังติดอยู่บนกระสวยได้นั้น นอกจากการติดกาวบนตัวโมเดลแล้ว ทางทีมงานยังได้ออกแบบให้กระสวยอวกาศมีขนาดที่เล็กและเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยตัวกระสวยทั้งหมด นอกจากจะสร้างขึ้นจาก 3D Print แล้ว วัสดุที่นำมาใช้ยังเป็น คาร์บอนไฟเบอร์ สแตนเลส และพลาสติก ซึ่งค่อนข้างทนทานและมีน้ำหนักที่เบา 


ทำให้ตัวกระสวยและตัวโมเดลทั้งหมดมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้นเพียง 2.72 กิโลกรัมเท่านั้น




ของรางวัลแก่แฟน ๆ 


Kreativ Gang ประกาศว่าจะนำตัวโมเดลทั้งหมดแจกให้แก่แฟน ๆ LEGO ที่ซื้อ LEGO ชุดใหม่ในสาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกีย โดยจะจัดเป็นกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมแคมเปญ ผู้ชนะจะต้องซื้อ LEGO และนำใบเสร็จไปลงทะเบียนบนเว็บไซต์ เพื่อขอรับตัวโมเดลนักบินอวกาศได้ฟรี 1 ตัว




แหล่งที่มา designtaxi.com



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง