รีเซต

'กรมทะเล' ย้ำแนวทางดร.เอ้ ใช้เตตระพอดกันคลื่นต้องศึกษาก่อน

'กรมทะเล' ย้ำแนวทางดร.เอ้ ใช้เตตระพอดกันคลื่นต้องศึกษาก่อน
ข่าวสด
31 ธันวาคม 2564 ( 17:17 )
126

กรณี ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวคิดหนุนให้ใช้เตตระพอด (Tetra pod) แทนการใช้ไม้ไผ่เป็นกำแพงกันคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณเขตบางขุนเทียน โดยกล่าวว่าโครงสร้างไม้ไผ่อายุการใช้งานสั้นผุพังเร็ว นั้น จนถูกวิจารณ์จากนักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายและโดยเฉพาะเพจ”วิทย์นอกห้อง”สอนมวยว่าดร.เอ้ควรมีความเข้าใจในเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ให้มากกว่านี้ นั้

เตตระพอด (Tetra pod) แนวกันคลื่น

 

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวชี้แจงว่า พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยความยาวกว่า 3,151.13 กิโลเมตร ยังคงประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งอีกกว่า 80 กิโลเมตร ใน 17 จังหวัด ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง สำหรับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลน เป็นวิธีที่กรมเลือกใช้เป็นหลัก โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปักไม้ไผ่ทำโพงพางและทำคอกเลี้ยงหอยแมลงภู่

 

 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ร่วมพัฒนาแนวคิดดังกล่าวกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำมาประยุกต์ร่วมกับหลักวิชาการ และศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และได้ถอดบทเรียนจากต่างชาติด้วย ซึ่งข้อดีของการใช้ไม้ไผ่ในการปักเพื่อชะลอความรุนแรงของคลื่นบริเวณหาดโคลน คือ เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ กระบวนการไม่ยุ่งยาก การรื้อถอนสามารถทำได้ง่าย ประยุกต์รูปแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ไม่กระทบต่อการเดินเรือและการทำประมงของชุมชน เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับถึงอายุการใช้งานของโครงสร้างไม้ไผ่ ซึ่งโครงสร้างจะอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 5 ปี โดยการเสื่อมสภาพมักจะเกิดจากคลื่นลมรุนแรง คุณภาพน้ำ การเกาะและกัดแทะของสัตว์ทะเล

 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น กรมทช.ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันปักมีระยะไม้ไผ่ไปแล้วกว่า 104 กิโลเมตร ใน 46 พื้นที่ 13 จังหวัด สามารถเพิ่มพื้นที่หาดโคลนหลังแนวไม้ไผ่และปลูกป่าชายเลนได้กว่า 320 ไร่ สำหรับการดำเนินการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น สิ่งสำคัญที่เราให้ความสำคัญและเป็นนโยบายหลักของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่

 

“การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและดำเนินการโดยหน่วยงานราชการแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการและความร่วมมือของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก”

 

ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่นด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งกระบวนการวางแผน การคิด การตัดสินใจ การจ้างแรงงานในพื้นที่ และการพัฒนาการดำเนินงานโครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

 

ทั้งนี้ สำหรับเขื่อนคอนกรีตหล่อรูปสี่ขา (Tetra pod) เป็นการใช้คอนกรีตหล่อเป็นรูปทรงสี่ขา หรือรูปแบบต่าง ๆ มาเรียงต่อเนื่องขนานไปกับแนวชายฝั่ง จัดเป็นเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของชายฝั่งและลดความรุนแรงของคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง ช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง ถือเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรม ซึ่งตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่รู้จักกันในนามมาตรการขาว-เขียว-เทา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 โครงสร้าง Tetra Pod จัดอยู่ในประเภทโครงสร้างแข็ง ตามมาตรการสีเทา ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ต้องศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ข้างเคียงอย่างละเอียดรอบคอบเสียก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้มาตรการสีเทา จะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะเลือกใช้ เนื่องจาก ไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการสีขาวและสีเขียวได้แล้ว

 

สำหรับโครงสร้างไม้ไผ่ชะลอคลื่น จัดอยู่ในมาตรการสีเขียว ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำหรับปี 2565 ตนได้รับข้อสั่งการจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งสำรวจโครงสร้างแนวไม้ไผ่เดิมที่เคยดำเนินการไว้ หากชำรุดเสียหายและพื้นที่ยังคงประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งอยู่ ให้รีบซ่อม หรืออาจจะปักไม้ไผ่เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างเดิมให้สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง