"ลูกพะยูน" พลัดหลงเกาะปอดะตายแล้ว พบภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกแถลงการณ์ ลูกพะยูนพลัดหลง เกยตื้นจากเกาะปอดะ จ.กระบี่ ตายลงแล้วเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม
18 วัน ที่ลูกพะยูนน้อย จากเกาะปอดะ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ได้รับความช่วยเหลือหลังถูกพบพลัดหลงกลางทะเลเพียงลำพังเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 ถูกนำมารักษาและอนุบาลที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ภายใต้การดูแลของทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดในทุก ๆ วัน แบบเรียกได้ว่าตลอด 24 ชั่วโมง
การติดตามพฤติกรรมในแต่ละวัน "ลูกพะยูน" ว่ายน้ำ เล่น ตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอย่างร่าเริง กินนมได้ ยอมทดลองเคี้ยวหญ้าทะเลที่เจ้าหน้าที่หามาให้ ขณะที่การติดตามอาการและตรวจสุขภาพพบลูกพะยูนมีปัญหาเรื่องการทรงตัว ทีมแพทย์เก็บตัวอย่างเลือดตรวจวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยา พบค่ากลูโคสในกระแสเลือดต่ำต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีการป้อนนมทดแทนและน้ำเพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ มีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดและปรับสัดส่วนของอาหารทดแทนนม เพื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการโภชนาการของลูกพะยูน โดยให้นมทดแทนสำหรับลูกสัตว์และอิเล็กโทรไลด์ทางการสอดท่อทุก 3-4 ชั่วโมง
ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ลูกพะยูนแสดงอาการซึม ลอยตัวนิ่ง เวลา 21.30 น. ลูกพะยูนแสดงอาการหายใจถี่ขึ้น มีอาการหายใจลำบาก และจมตัวลงพื้นบ่อไม่สามารถทรงตัวได้ ทีมสัตวแพทย์จึงรีบพยุงตัวสัตว์ขึ้นเหนือน้ำ และติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด อัตราการหายใจเฉลี่ย 15-20 ครั้งต่อ 5 นาที การหายใจถี่และสั้น จึงให้ออกซิเจนและยากระตุ้นการหายใจ วัดหัวใจเต้นเบาลง ตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้พบว่ามีการเคลื่อนไหวช้าลง ตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดพบว่า 21 mg/dl บ่งบอกว่าลูกพะยูนพบน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำกว่าปกติอย่างรุนแรง จึงได้ทำการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดและทางการป้อน ให้ยาลดปวดเพื่อพยุงอาการ จนถึงเวลา 06.18 น. ในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ลูกพะยูนแสดงอาการชักเกร็ง สีเยื่อเมือกซีด หายใจช้าลงผิดปกติ การเต้นของหัวใจเบาลงและการตอบสนองช้าลง จนหยุดนิ่งและตายลงในที่สุด
จากการชันสูตรซากลูกพะยูนพบว่าเนื้อเยื่อปอดมีเลือดคั่งและพบลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดลมและแขนงหลอดลมปริมาณมาก บริเวณผนังช่องท้องพบลิ่มเลือดกระจายเป็นหย่อมๆส่วนของทางเดินอาหารพบปื้นเลือดออกบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเล็กน้อย สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว
ข้อมูลและภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง