รีเซต

สำเร็จ ! "พะยูนหลังขาว" หาดราไวย์ ยอมกินผักอาหารเสริมทดแทนหญ้าทะเลแล้ว

สำเร็จ ! "พะยูนหลังขาว" หาดราไวย์ ยอมกินผักอาหารเสริมทดแทนหญ้าทะเลแล้ว
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2567 ( 11:08 )
22

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.)รายงานว่า หลังจากที่ได้มีการทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติที่จัดวางไว้เป็นอาหารเสริมให้กับพะยูนในสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม บริเวณแหล่งหญ้าทะเลท่าเทียบเรือหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 จากการตรวจสอบแปลงอาหารธรรมชาติที่จัดวางไว้จำนวน 4 แปลง  พบว่า มีร่องรอยการกินของพะยูนที่ยังคงสดใหม่ 


ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว มาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีแหล่งหญ้าทะเลและมีพะยูนเข้ามาหากิน จึงได้วางแปลงผัก 4 ชนิด เพื่อเป็นอาหารเสริมขนาดแปลงละ 1 ตารางเมตร จำนวน 4 แปลง โดยใช้ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า และสาหร่ายผมนาง โดยเฉพาะผักกวางตุ้ง และ สาหร่ายผมนาง ซึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการองค์ประกอบใกล้เคียงกับหญ้าทะเล



โดยการวางแปลงผักช่วงแรก ๆ พะยูนว่ายเข้ามาวนเวียนบริเวณแปลงผัก แต่ยังไม่ยอมกิน กระทั่ง 1 สัปดาห์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ จัดวางแปลงผักชุดใหม่ได้เพียง 2 ชั่วโมง ตรวจสอบพบว่ามีพะยูน ชื่อว่า "หลังขาวใหญ่" เข้ามาหากินผักจากแปลงอาหารเสริมแล้ว และจากการบินสำรวจติดตามในบริเวณดังกล่าว ยังพบมีพะยูนอีก 1 ตัวเข้ามาหากินหญ้าทะเลหาดราไวย์ ทางศูนย์ฯ จึงวางแผนวางแปลงทดลองจำนวน 6 แปลง เพิ่มเติมจากของเดิม ในวันนี้ (9 พ.ย.) ด้วย






ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า จากการศึกษาแหล่งอาหารของพะยูน นอกจากหญ้าทะเล ยังพบว่าพะยูนมีการปรับเปลี่ยนแหล่งอาหาร ด้วยการไปกินสาหร่ายทะเลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยพบองค์ประกอบของอาหารในกระเพาะพะยูนที่ตายมีสาหร่ายทะเลมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าพะยูนในพื้นที่ทะเลอันดามันมีการปรับตัวอยู่พอสมควร แต่สาหร่ายยังเป็นแค่การเสริมอาหารชดเชยหญ้าทะเล ยังไม่สามารถเป็นอาหารหลักแทนหญ้าทะเลได้ อีกทั้งมีรายงานในต่างประเทศว่าพบสาหร่ายในมูลของพะยูน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าพะยูนกินเข้าไปโดยบังเอิญหรือตั้งใจกิน อย่างไรก็ตาม สาหร่ายทะเลจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาให้พะยูนในภาวะอาหารขาดแคลน รวมถึงการให้ผักชนิดอื่นเสริมทดแทน เพราะองค์ประกอบและสารอาหารในพืชผักมีคุณสมบัติไม่ต่างจากหญ้าทะเลมากนัก รวมทั้งจากข้อมูลในต่างประเทศที่มีการเลี้ยงพะยูนในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ก็มีการให้ผักเป็นอาหาร


สำหรับบริเวณท่าเทียบเรือหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต มีแหล่งหญ้าทะเล และพบมีพะยูนว่ายเข้ามาหากิน จนกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดภูเก็ต และมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาชมพะยูนที่จุดดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา


ข้อมูลและภาพ : เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง