รีเซต

'วราวุธ' หวั่นซ้ำรอย ขุดร่องน้ำตรัง กระทบแหล่งหญ้าทะเล

'วราวุธ' หวั่นซ้ำรอย ขุดร่องน้ำตรัง กระทบแหล่งหญ้าทะเล
ข่าวสด
26 มีนาคม 2565 ( 16:53 )
79
'วราวุธ' หวั่นซ้ำรอย ขุดร่องน้ำตรัง กระทบแหล่งหญ้าทะเล

'วราวุธ' หวั่นซ้ำรอย ขุดร่องน้ำตรัง กระทบแหล่งหญ้าทะเล ชี้สร้างสมดุลการพัฒนาควบคู่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 'กรมทะเล' สำรวจเตรียมพร้อมป้องกันผลกระทบทุกมิติ

กรณีประเด็นผุดโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือและการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิม 60 เมตร เป็น 90 เมตร และความลึกมากกว่าเดิม 1 – 2 เมตร กรมเจ้าท่าเตรียมเดินหน้าดำเนินการในปี 2565 หลายฝ่ายเริ่มกังวลเตรียมหารือแนวทางป้องกันผลกระทบแหล่งหญ้าทะเลและระบบนิเวศทางทะเล นั้น

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การเร่งฟื้นเศษฐกิจและเตรียมการส่งเสริมภาคการลงทุน ตนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างยิ่งในสภาพวิกฤติสถานการณ์แบบนี้ แต่สิ่งที่ตนพยายามเน้นย้ำมาโดยตลอด คือ การสร้างสมดุลของการพัฒนากับการคงอยู่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่ามุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสุดขั้วจนเกินไป

อย่างเช่น กรณีกรมเจ้าท่าเตรียมเดินหน้าโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง ในปี 2565 ตนคิดว่าจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ได้ดีในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนครั้งที่ผ่านมาเมื่อราวปี 2562 – 2563 ผลกระทบจากการขุดลอกร่องน้ำกลับส่งผลกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูนกว่า 200 ตัว ซึ่งเรื่องนี้ตนได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. เพื่อให้กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อย่าให้เกิดผลกระทบเหมือนอย่างที่ผ่านมา อีกทั้ง ขอให้รับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรฯ โดยน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญจะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แหล่งหญ้าทะเลบริเวณปากแม่น้ำตรังและบริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง ในช่วงต้นเดือนเมษายน พร้อมหารือกับชาวบ้านในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล และระบบนิเวศทางทะเล

 

“ความยั่งยืนของเศษฐกิจประเทศ ขึ้นกับฐานทรัพยากรธรรมชาติที่คงอยู่อย่างสมบูรณ์และสมดุล ทรัพยากรธรรมชาติพัง เศรษฐกิจย่อมเดินหน้ายาก การส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างสุดโต่งโดยไม่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ นับเป็นการกระทำที่ไม่ชาญฉลาด” นายวราวุธ กล่าว

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า แหล่งหญ้าทะเลของประเทศไทยมีกระจายอยู่หลายพื้นที่ทั้งในฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย รวมแล้วกว่า 159,829 ไร่ ร้อยละ 54 ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง และร้อยละ 31 อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี สำหรับพื้นที่จังหวัดตรัง นับเป็นพื้นที่แหล่งปะการังที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญมาก เนื่องจากพบพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์สงวนตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กว่า 200 ตัว ในบริเวณดังกล่าว ผลกระทบจากการขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือบริเวณปากแม่น้ำตรังเมื่อปี 2562 – 2563 ส่งผลให้แหล่งหญ้าทะเลเสียหายหลายพันไร่

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเตรียมการดำเนินการขุดลอกร่องน้ำที่กรมเจ้าท่าจะดำเนินการในปี 2565 ตนได้สั่งการให้ทีมนักวิชาการเร่งสำรวจสภาพแหล่งปะการังบริเวณดังกล่าวโดยละเอียด รวมทั้ง ข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมถึง เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานในพื้นที่ให้เร่งประสานกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน พร้อมทั้งให้ถอดบทเรียนของผลกระทบในครั้งก่อน มาประกอบการพิจารณาดำเนินการในครั้งนี้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง