รู้จัก "ปฏิบัติการซินดอร์" จากแป้งแต่งหน้าสู่แผนล้างแค้นก่อการร้ายในปากีสถาน

ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน เรียกได้ว่าอาจถึงเกือบถึงจุดเดือดสูงสุด เมื่ออินเดียเปิดฉากโจมตีใส่ปากีสถานในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา (6 พฤษภาคม) โดยมุ่งโจมตีไปที่เป้าหมายกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถาน เพื่อตอบโต้ที่เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมากลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์โจมตีนักท่องเที่ยวและพลเรือนกว่า 26 คน ที่เมืองพาฮาลแกม ในภูมิภาคแคชเมียร์ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจนได้รับสมญานามว่า “สวิสเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย” และนี่จึงเป็นที่มาของ “ปฏิบัติการซินดอร์” หรือ Operation Sindoor ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้
“ปฏิบัติการซินดอร์” มุ่งโจมตีเป้าหมายกลุ่มก่อการร้าย 9 แห่งที่ประกอบด้วย ศูนย์บัญชาการใหญ่ของกลุ่ม Jaish-e-Mohammed หรือที่รู้จักในชื่อ กองกำลังแห่งโมฮัมเหม็ด ซึ่งเป็นขบวนการก่อการร้ายในปากีสถานที่ก่อตั้งโดย “มาสูด อัซฮาร์” ผู้ที่ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในอินเดียเมื่อปี 2000 เพื่อแลกกับตัวประกัน 155 คน โดยศูนย์บัญชาการแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐปัญจาบ
เป้าหมายต่อมาคือ “ศูนย์ฝึกทหาร Muridke” ของกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ห่างจากเมืองลาฮอร์ไปทางเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางประสานงานที่มีมาอย่างยาวนาน มีสิ่งอํานวยความสะดวกของกลุ่มก่อการร้ายที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 500 ไร่ ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายที่เคยโจมตีอินเดียหลายครั้งก่อนหน้านี้ก็ถูกฝึกที่นี่เช่นเดียวกัน
อีกหนึ่งเป้าหมายคือ “สนามฝึกเครื่องบินทิ้งระเบิดและฐานปล่อยขีปนาวุธ” ซึ่งเป็นที่ฝึกของมือระเบิดพลีชีพและนักรบกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ยังมีแท่นปล่อยขีปนาวุธในเมือง Rajouri และ Poonch ที่ถูกอินเดียโจมตีครั้งล่าสุดเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายอื่นคือ “แคมป์” ของกลุ่มก่อการร้ายในแคชเมียร์ที่รวมไปถึง แคมป์ Mehmoona ที่ครั้งหนึ่งกลุ่มติดอาวุธ Hizbul Mujahideen ใช้เป็นที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในแคชเมียร์ก็ถูกโจมตีด้วย
อย่างไรก็ตาม คำว่า “ปฏิบัติการซินดอร์” เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นโดยอิงจากสัญลักษณ์เชิงศาสนา “ซินดอร์” ของอินเดียหมายถึง “แป้งสีแดง” ที่ผู้หญิงชาวฮินดูใช้แต้มบนหน้าผากหลังจากแต่งงานแล้ว และเหตุที่ใช้ชื่อนี้เป็นเนื่องจากการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายในแคชเมียร์เมื่อปลายเดือนเมษายนทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องกลายเป็น “แม่ม่าย” เพราะสามีของพวกเธอถูกสังหาร โดยที่ 1 วันหลังจากโจมตีปรากฎภาพของหญิงฮินดูนอนกอดร่างไร้วิญญาณของสามี จนภาพดังกล่าวกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาของชื่อปฏิบัติการซินดอร์ สัญลักษณ์ของความเจ็บปวดที่เหยื่อของกลุ่มก่อการร้ายต้องทนทุกข์ทรมาน