รีเซต

ทำไมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล้ายืนหยัดสู้ทรัมป์ แม้ถูกระงับเงินอุดหนุนมหาศาล?

ทำไมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล้ายืนหยัดสู้ทรัมป์ แม้ถูกระงับเงินอุดหนุนมหาศาล?
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2568 ( 10:50 )
7

หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งข้อเรียกร้องความยาว 5 หน้า แก่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมีข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติงาน การรับนักศึกษา คณะต่างๆ และการใช้ชีวิตของนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดใช้เวลาไม่ถึง 72 ชั่วโมง ก็ตอบปฏิเสธ ข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลาง ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่แสดงถึงการแข็งข้ออย่างถึงที่สุดของมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เริ่มกดดันสถาบันการศึกษาขั้นสูง ให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องในทางการเมืองของเขา แน่นอนว่า เรื่องนี้ทำให้ทรัมป์ไม่พอใจอย่างมาก จนประกาศจะระงับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางถึงสองพันล้านดอลลาร์ และยังขู่ที่จะยกเลิกการยกเว้นภาษีของมหาวิทยาลัยด้วย

เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่าบรรดาผู้นำของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ถกกันอย่างเคร่งเครียดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปว่า ข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น เป็นภัยคุกคามถึงก้นบึ้งต่อความเป็นอิสระและพันธกิจของมหาวิทยาลัย ที่มีอายุแล้วถึง 388 ปี

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1636 ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ ถือเป็นวิทยาลัยแห่งแรกของอาณานิคมอเมริกา ในเวลาต่อมา มีการเปลี่ยนชื่อตามนักบวช จอห์น ฮาร์วาร์ด ซึ่งบริจาคหนังสือราว 400 เล่ม และเงินจำนวนหนึ่งให้แก่มหาวิทยาลัย

อลัน เอ็ม การ์เบอร์ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุในจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “ไม่ควรมีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดที่ครองอำนาจ ที่จะมาสั่งการว่ามหาวิทยาเอกชนควรจะสอนอะไร ควรจะรับใครเข้าเรียน หรือจ้างงานงานใคร การเรียนสาขาไหนที่จะสามารถดำเนินการได้” “มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมทิ้งความเป็นอิสระหรือละทิ้งสิทธิตามรัฐธรรมนูญ”

ด้านสตีเวน พิงเคอร์ ประธานร่วมของสภาเพื่อเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ หากอธิการบดีของมหาวิทยาลัยใดจะยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมด เพราะเป็นการข้อเรียกร้องที่เข้ามากำหนดความเชื่อของสถาบันและของนักศึกษา

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่รวยที่สุดในโลกนั้น ถือว่ามีอำนาจพิเศษทางการเงินและทางการเมือง ที่พอจะต่อสู้กับรัฐบาลสหรัฐฯได้ในระดับหนึ่ง โดยฮาร์วาร์ดมี Harvard’s Endowment หรือกองทุนเงินสะสมที่มีมูลค่าถึง 5.32 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจีดีพีของประเทศขนาดเล็กบางประเทศด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ฮารวาร์ดจะสามารถยืนหยัดท่ามกลางพายุได้

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เงินจำนวนดังกล่าวนั้น ราว 70% ต้องใช้สำหรับโครงการเฉพาะเจาะจง และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเอง ก็ต้องใช้เงินให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน ฮาร์วาร์ด มีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยในปีที่แล้ว งบประมาณดำเนินการสูงถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.2 แสนล้านบาท // ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ หนึ่งในสาม ได้รับเงินมาจากกองทุนสะสมของฮาร์วาร์ด / ส่วน อีก 16% มาจากรัฐบาลกลาง 

นอกจากนี้ กองทุนสะสมของฮาร์วาร์ดยังมีกฎทองด้วยว่า ในแต่ละปี มหาวิทยาลัยไม่ควรใช้เงินเกิน 5% ของเงินกองทุน มิหนำซ้ำ หากทรัมป์ยกเลิกสถานะได้นับยกเว้นทางภาษีของมหาวิทยาลัยจริง ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยเผชิญแรงกดดันมหาศาลในทางการเงิน

แม้มหาวิทยาลัย อาจจะต้องลดค่าใช้จ่ายลงบ้าง แต่บรรดาเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งหนุนให้รักษาชื่อเสียง ความเป็นอิสระ ของมหาวิทยาลัยต่อไป ยังมีความเชื่อว่า ฮาร์วาร์ดจะเอาตัวรอดจากสงครามครั้งนี้ของทรัมป์ได้

นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า อันที่จริง ฮาร์วาร์ดเตรียมความพร้อมที่จะปะทะกับทำเนียบขาวมาแล้วระยะหนึ่ง โดยมหาวิทลัยได้ระงับการจ้างงานในเดือนมีนาคม และกำลังหาทางระดมทุนในตลาดพันธบัตรราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือราวสี่หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังพยายามปรับสัดส่วนเงินอุดหนุนจากกองทุนสะสมฮาร์วาร์ดด้วย ซึ่งเคยทำมาแล้วในช่วงการระบาดของโควิด-19

ดังนั้น กองทุนสะสมของฮาร์วาร์ด จึงน่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง แม้บรรดาผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ไม่ได้อยากดึงเงินกองทุนมาบ่อยนัก เพราะกังวลว่าเป็นการเอาเงินอนาคตมาใช้ แต่ในรายงานเอกสารการเงินของมหาวิทยาลัยฉบับล่าสุด ระบุไว้ว่า มหาวิทยาลัยมีเงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีที่มีเหตุที่คาดไม่ถึง


นอกจากนี้ จากตัวอย่างของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ยอมจำนนตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลทรัมป์ แต่ก็เงินอุดหนุนจำนวน 400 ล้านดอลลาร์ ที่ถูกแช่แข็งไปก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่ได้มีการปล่อยคืนให้กับมหาวิทยาลัย และรัฐบาลทรัมปก็ยังมีข้อเรียกร้องอื่นตามมาอีก ยังแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะเลือกเส้นทางไหน ก็จะนำไปสู่ความวุ่นวายอยู่ดี

แม้กระทั่ง ลี ซี. โบลิงเกอร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มากว่า 21 ปี ยังกล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ยุทธศาสตร์เจรจาและปรองดองนั้นดูจะไม่มีจุดสิ้นสุด

ขณะที่ สตีเวน เลวิตสกี นักรัฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ด ผู้ซึ่งสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยยืนหยัดต้านทรัมป์ กล่าวขณะที่เริ่มชั้นเรียนเรื่อง “เผด็จการและประชาธิปไตย” ไว้ว่า “ดูเหมือนฮาร์วาร์ดได้ตัดสินใจแล้วว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสู้” และนักเรียนนับร้อยต่างปรบมือด้วยความฮึกเหิมนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง