รีเซต

เหลียวหลัง...แลหน้า ความเหลื่อมล้ำไทย

เหลียวหลัง...แลหน้า  ความเหลื่อมล้ำไทย
TNN ช่อง16
13 พฤษภาคม 2564 ( 14:52 )
206

ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ง่าย แต่จะแก้ได้ไหม และแก้อย่างไร  วันนี้เศรษฐกิจอินไซต์ข้อมูลจาก  KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร  ซึ่งวิเคราะห์ภาพรวมความเหลื่อมล้ำไทยในอดีตและความท้าทายในอนาคตของไทย โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ปัญหานี้จะยิ่งแย่ลง และแก้ยากขึ้นหรือไม่   ซึ่ง KKP Research  มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ด้วย ไปติดตามกัน  

มาเริ่มกันที่ความเหลื่อมล้ำของไทยรุนแรงแค่ไหน ทั้งด้านรายได้ และความมั่งคั่ง  ที่สำคัญอยู่จุดไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก และพัฒนาการด้านความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นอย่างไร



จากบทวิเคราะห์ของ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร  ระบุว่า ในมุมมองระยะยาว ความเหลื่อมล้ำ  ”ด้านรายได้” ของไทยมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นโดยสัดส่วนรายได้ของคนกลุ่ม 20% บนลดลงต่อเนื่อง และไม่ได้แย่มากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก  โดยดูจากดัชนี Wage gini  ซึ่งบอกความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้าง จะเห็นว่า (ในกราฟฟิก) ประเทศไทยอยู่ในระดับพอใช้ได้เมื่อเทียบกับหลายประเทศ


อย่างไรก็ดี งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) ล่าสุดชี้ว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ที่ปรับตัวดีขึ้นไม่ได้เกิดจากความสามารถของแรงงาน แต่เป็นผลสำคัญมาจากเงินโอนจากทั้งนโยบายภาครัฐที่ให้กับกลุ่มคนสูงอายุ และจากคนที่เข้ามาทำงานในเมืองโอนเงินกลับไปในชนบทซึ่งไม่ยั่งยืนในภาวะที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุและแรงงานกำลังลดลง  หากไม่นับรวมเงินโอนความไม่เท่าเทียมในไทยจะแทบไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นเลย สะท้อนว่าผลิตภาพการผลิตของกลุ่มคนรายได้น้อยไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น



ขณะที่ความเหลื่อมล้ำ “ด้านความมั่งคั่ง” ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นเร็ว แม้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง หรือสินทรัพย์ที่คนแต่ละกลุ่มถือครอง (เช่น เงินฝากธนาคาร หุ้น ที่ดิน) เป็นปัญหาที่รุนแรงมากในไทย Credit Suisse   ประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ  และคนรวยที่สุด 1% ของประเทศถือทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท ต่างกันถึง 2500 เท่ากับค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มที่จนสุด 20% แรกของประเทศ



ในมิติเปรียบเทียบกับต่างประเทศนอกจากประไทยจะเป็นประเทศที่สัดส่วนความมั่งคั่งของคน 1% สูงที่สุดในโลกแล้วตัวเลขดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระหว่างปี 2008-2018 (2551-2561) โดยคน 1% บนสุดถือครองทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 17.5% 



สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความมั่งคั่งมีความถ่างกันมากกว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้เป็น เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่หลังวิกฤตปี 1997 (2540) เป็นต้นมา ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จากตัวเลขทางการอาจต่ำกว่าความเป็นจริงจากข้อจำกัดด้านข้อมูล 


เนื่องจากตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของไทย มักอ้างอิงข้อมูลแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งตามกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในแบบสำรวจมีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนรายได้น้อย ทำให้ตัวเลขรายได้ของกลุ่มคนรายได้สูงในแบบสำรวจมีแนวโน้มต่ำกว่าความเป็นจริงและตัวเลขความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาโตแบบไม่ทั่วถึง รวยกระจุกจนกระจาย ในมิติการเติบโตของรายได้ ข้อมูลสะท้อนภาพชัดเจนว่ากลุ่มคนรายได้สูงมีรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นเร็วกว่าคนรายได้น้อย ในขณะที่การบริโภคของคนรายได้น้อยต้องมาจากการก่อหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เร่งขึ้นเร็วในคนรายได้น้อยสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางของครัวเรือนอย่างชัดเจน


เหตุใดไทยยังเหลื่อมล้ำสูง และอนาคตจะเป็นเช่นไร?


KKP Research ประเมินว่าความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นผลลัพธ์จากทั้งปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นทั่วโลกและปัจจัยเฉพาะเชิงนโยบายของไทยเองที่ไม่เอื้อต่อการเลื่อนสถานะทางสังคม  โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง และในอนาคตมีแนวโน้มแย่ลง ดังนี้ 



1 แม้ว่าความเหลื่อมล้ำไทยจะลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการตามลำดับ แต่ในปี 2015 (2558) ภาพรวมความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยกลับแย่ลงอีกครั้ง สาเหตุสำคัญเกิดจากคนไทยสัดส่วนกว่า 31% ทำงานอยู่ในภาคเกษตร เมื่อการเติบโตของรายได้อยู่ในระดับต่ำทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น ประกอบกับความจริงว่าภาคเกษตรไทยขาดการพัฒนาผลิตภาพการผลิตทำให้รายได้เพิ่มขึ้นน้อย ทำให้เมื่อเปรียบเทียบแล้วการเติบโตของค่าแรงในภาพรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่าภาคเกษตร


2. การขาดโอกาสในการเข้าถึงในหลายมิติทั้งในมิติของโอกาสทางการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมและมีคุณภาพแตกต่างกันมาก  ซึ่งปัญหาการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นหนึ่งในต้นตอของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง


ขณะที่มิติสิทธิแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าแรงที่เติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจ พบว่า ในชีวิตวัยทำงานหลังจากเรียนจบ หากคนหนึ่งคนเลือกเข้าไปทำงานรับค่าแรงจะเติบโตได้ช้ามาก ตั้งแต่หลังปี 2015(2558) เป็นต้นมา ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัวลงส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานแทบไม่เติบโตขึ้นเลย และอยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตของ GDP


นอจากจากนี้ กำไรที่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ทำให้รายเล็กแข่งขันยาก งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ให้ข้อมูลว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5% มีสัดส่วนกำไรกว่าถึง 60% ของรายรับทั้งหมดซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำในมิติของธุรกิจที่น่ากังวลมากเช่นกัน และภาครัฐยังขาดมาตรการสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ


3.  โควิด-19 จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยรุนแรงมากขึ้นทั้งในมิติระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากกลุ่มแรงงานรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง อาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายหาบเร่แผงลอย ล้วนเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ไม่สามารถ work from home ได้ ปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานได้ยาก จึงมีโอกาสที่จะตกงาน ถูกให้พักงาน สูญเสียรายได้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อีกทั้งแรงงานรายได้น้อยยังมักไม่มีเงินเก็บออมมากพอและไม่มีสินทรัพย์อื่น ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ทดแทนได้ 


นอกจากนี้ แรงงานไทยอยู่นอกระบบประกันสังคมในสัดส่วนที่สูงถึง 54% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 อยู่แล้ว การขาดโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ในกรณีว่างงานหรือสูญเสียรายได้ ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่โควิด-19จะส่งผลต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ  ทั้งนี้ ระบบคุ้มครองทางสังคมของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบในระดับสากล โดยรัฐบาลไทยใช้เงินในเรื่องการคุ้มครองทางสังคมคิดเป็น 3.7% ของ GDP ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม 6.3% ไต้หวัน 9.7% เกาหลีใต้ 10.1% ญี่ปุ่น 23.1%  


4. ประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง  KKP Research เคยประเมินผลกระทบจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุต่อเศรษฐกิจไทย ปัญหาแก่ก่อนรวยมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นรุนแรงในกลุ่มคนจน เนื่องจากกลุ่มคนจนมีรายได้ที่ต่ำ การสะสมความมั่งคั่งที่ต่ำ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง 


นอกจากนี้ การเมือง เป็นหนึ่งในรากลึกปัญหาความเหลื่อมล้ำ  การขาดกลไกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในผลพวงที่เกิดจากสถาบันการเมืองที่มีลักษณะไม่เชื่อมโยงกับความรับผิดต่อส่วนรวม (Accountability)  


ข้อมูลจาก World Competitiveness Report 2019 แสดงให้เห็นผลลัพธ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากระบบการเมืองที่ขาดประสิทธิภาพของไทย คือ (1) เสรีภาพของสื่อ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบการทำงานของรัฐ ที่ไทยอยู่ลำดับที่ 113 จาก 141 ประเทศ (2) ด้านความปลอดภัยของประชาชนและการคอร์รัปชั่นได้คะแนนที่ค่อนข้างต่ำ (3) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ดีนัก (4) กฎหมายกำกับการแข่งขันที่ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่



เมื่อนำภาพทั้งหมดมาประกอบกันจะเห็น ”เบื้องหลังกลไกความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย” ซึ่งดูเหมือนกลายเป็น “วงจรไม่รู้จบ”  หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมจากภาครัฐ และยิ่งต้องเผชิญความท้าทายนี้แบบรุนแรงขึ้นอีกในยุคหลังจากนี้ไป 


KKP Research ประเมินว่าหัวใจหลักของการแก้ปัญหานี้อยู่ที่การแก้ไขกลไกในระบบเศรษฐกิจที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในด้านโอกาส


โดยกลไกลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ (1) กลไกทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม สร้างเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแข่งขันบนความเท่าเทียม ปฏิรูปกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ที่เอื้อให้บางกลุ่มได้ประโยชน์จากระบบผูกขาด อันจะนำไปสู่การกระจุกตัวของทรัพยากรทางเศรษฐกิจ 


 (2) กลไกทางภาษีในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง โดยใช้ระบบภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า และภาษีที่เก็บบนฐานของทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดิน รายได้จากทรัพย์สินและมรดก 


(3) กลไกสวัสดิการของรัฐ ที่ทำให้คนเข้าถึงการศึกษา บริการทางสาธารณสุข สินเชื่อ ที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมทั้งการมีโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ที่เข้มแข็งเพื่อประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีในทุกช่วงเวลาของชีวิต 


 (4) กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 


และ (5) กลไกกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลัง โดยมีการจัดสรรทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางการคลังไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมของการกระจายรายได้สู่ทุกพื้นที่ในประเทศ


ขณะที่กลุ่มคนระดับรายได้ปานกลาง  อาจใช้นโยบาการลงทุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการศึกษาขั้นสูงที่มีคุณภาพ   การใช้กฎหมายแรงงานที่ส่งเสริมการจ้างงานที่เป็นธรรม การสร้างอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มลูกจ้าง  ส่วนกลุ่มกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งหรือรายได้สูง  อาจใช้เครื่องมือทางการคลัง เช่น  การจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น 


KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากคือทางเลือกนโยบาย ในขณะที่นโยบายใดๆ ก็ไม่สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำได้ทั้งหมด แต่นโยบายที่ดีย่อมสามารถลดช่องว่างที่นับวันยิ่งถ่างขึ้นให้แคบลง เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น  


พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเติบโต ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้น การคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มในการออกแบบนโยบายภาครัฐ และความตั้งใจจริงในการยกระดับคุณภาพชีวิตคือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง