รีเซต

"ภาษีทรัมป์" เร่งเชื้อไฟ รัฐบาลรับมืออย่างไร กับเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง

"ภาษีทรัมป์" เร่งเชื้อไฟ รัฐบาลรับมืออย่างไร กับเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2568 ( 09:33 )
10

“เรียบร้อยโรงเรียนทรัมป์” กับการประกาศมาตรการ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับภารกิจรีดภาษีไม่เลือกหน้า ไม่ว่า “มิตรหรือศัตรู” ทุกประเทศในโลกถ้ามีแผ่นดินอยู่บนแผนที่โลก โดนกันแบบจุกอกถ้วนหน้า

การกำหนดมาตรการภาษีในครั้งนี้ สร้างความปั่นป่วนให้กับทุกสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก หุ้นตกทั่วโลก ทองคำพุ่งกระฉูด ไม่เว้นแม้แต่ตัวของสหรัฐอเมริกาเอง ที่ก็เจ็บหนักไม่แพ้ใคร นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ทั่วโลก ถึงกับกุมขมับ เปิดตำรารับแทบไม่ทัน กับตัวเลขภาษีที่ออกมาสูงเกินจินตนาการ ตั้งแต่ 10% เป็นพื้นฐานกับทุกประเทศ จนไปถึงแตะระดับเฉียดๆ 50% สำหรับบางประเทศ

ส่วนประเทศไทยรอบนี้ “หนักกว่าที่คิด” เราถูกประกาศเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตัวเลข 36% ไม่เคยอยู่ในคาดการณ์ของสำนักไหน ผลกระทบที่คาดการณ์ ต้องรื้อกันใหม่หมด และห้วงเวลาแห่งความตื่นตระหนก กำลังจะเป็นการซ้ำเติม เร่งเชื้อไฟ เผาไหม้ระบบเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก

16.00 น. บ่ายแก่ๆของวันที่ 2 เม.ย. 2568 หรือตีสามกลางดึกของประเทศไทย ณ Rose Garden ทำเนียบขาว โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร ได้ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลกในอัตราที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 10-49%

โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งชื่อวันในการประกาศมาตรการนี้ว่า "วันแห่งการปลดปล่อย" และใช้ชื่องานประกาศนี้ว่า "Make America Wealthy Again" ซึ่งก็แปลความหมายได้ตรงตัวเลยว่าต้องการทำให้ ”สหรัฐอเมริกากลับมามั่งคั่งอีกครั้ง” และปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาจากการถูกปล้น ถูกรุกราน ถูกข่มขืนใจ และถูกทำลายโดยประเทศต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล ทั้งจากมิตรและศัตรู ตามคำกล่าวของโดนัลด์ ทรัมป์

ก่อนหน้านี้ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่กลุ่มประเทศ “Dirty 15” หรือกลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุด 15 อันดับของโลก ว่าจะเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่โดนมาตรการภาษี ซึ่งก็ไม่มีอะไรพลิกโผ Dirty 15 โดนกันถ้วนหน้า ในอัตราที่สูงเกินคาด แล้ว 3 อันดับแรกใน Dirty 15 โดนสหรัฐอเมริการีดภาษีเท่าไหร่กันบ้างเรามาดูกัน

เริ่มที่คู่รักคู่แค้นอันดับ 1 อย่าง “จีน” ที่เกินดุลการค้าสหรัฐอเมริกามากที่สุดในโลกอยู่ถึง 2.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 34%

อันดับ 2 อย่าง “เม็กซิโก” ที่เกินดุลการค้าสหรัฐอเมริกาอยู่ถึง 1.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปก่อนหน้านี้ในอัตรา 25%

อันดับ 3 “เวียดนาม” ที่เกินดุลการค้าสหรัฐอเมริกาอยู่ถึง 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 46%

ส่วนประเทศอื่น ๆ ใน Dirty 15 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรปถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 20%

ไต้หวัน ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 32%

ญี่ปุ่น ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 24%

เกาหลีใต้ ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25%

แคนาดา ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปก่อนหน้านี้ในอัตรา 25%

อินเดีย ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 26%

สวิสเซอร์แลนด์ ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 31%

มาเลเซีย ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 24%

อินโดนีเซีย ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 32%

ส่วนประเทศไทยที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งเกินดุลการค้าสหรัฐอเมริกาอยู่ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% โดยสหรัฐฯอ้างว่าไทยเรียกเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯสูงถึง 72%

แล้วผลกระทบกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเป็นอย่างไร เมื่อเราไปย้อนดูมูลค่าการส่งออกของบริษัทจดทะเบียนไทยไปยังสหรัฐอเมริกาจะพบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯในปี 2024 อยู่ที่ 3.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.2% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนไทย ถือว่าหนักหนาสาหัสพอสมควร

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯมากที่สุดได้แก่กลุ่มอาหาร หรือ FOOD ที่มีรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 1.31 ล้านล้านบาท และรองลงมาคือกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หรือ PETRO ที่มีรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 1.21 ล้านล้านบาท และอันดับที่ 3 คือกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 3.99 แสนล้านบาท ก็น่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ในขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้าประเทศไทย คาดกลุ่มหุ้นที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบและควรหลีกเลี่ยงการลงทุนได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, สินค้าเกษตร, นิคมอุตสาหกรรม และพลังงาน แนะนำหมุนเงินเข้าพักในสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นทองคำ, กองทุนพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกลุ่ม REIT & IFF ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีมองกรอบล่างแนวรับของ SET Index ไว้ที่ 1,080 จุด

ส่วนการรับมือของประเทศไทยกับสงครามการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น คุณพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research แนะไทยเร่งเจรจาต่อรองหลังสหรัฐฯ โดยมองว่า ประเทศไทยน่ามีทางเลือกอยู่ 3 ทาง

หนึ่ง สู้ (แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน) ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราพึ่งพาเขาเยอะกว่าเขาพึ่งพาเราเยอะมาก สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเรา เราเกินดุลสหรัฐปีนึงหลายหมื่นล้าน (แม้ว่ามูลค่าของการเกินดุลจำนวนมากเป็นสินค้านำเข้าจากจีนที่อาศัยไทยเป็นช่องหลบเลี่ยงก็ตาม)

สอง หมอบ คือ เจรจาหาทางลงที่สหรัฐพอใจ เช่น ปรับลดภาษีที่เราเก็บเขาสูง ๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ (เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย) ยกเลิก nontariff barrier เช่น การห้ามการนำเข้าเนื้อหมู ค่าตรวจสินค้า และ แค่นี้อาจจะไม่พอ เราอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ เราอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่าง ๆ ที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน

แต่แน่นอนว่าทางเลือกนี้ นอกจากการเจรจา “ภายนอก” แล้วต้องการการเจรจา “ภายใน” ที่มีประสิทธิภาพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะยอมเปิดสินค้าเกษตรแลกกับภาคการส่งออก ใครจะยอมเสียประโยชน์ใครจะได้ประโยชน์ และเกมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริง ๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆและประเมินผลได้ผลเสีย

สาม ทน คือถ้าเราหาทางออกไม่ได้ ก็คงต้องทน หรือหาแนวร่วมจากเพื่อนหัวอกเดียวกันในการกดดันและเจรจากับสหรัฐ เพราะเกมนี้สหรัฐก็อาจจะเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมาถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผนคงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก

ซึ่งทางคุณพิพัฒน์ ได้ย้ำอีกว่า ถ้าเลือกทางใดทางหนึ่งไม่ได้ ก็อาจจะต้องใช้ทั้ง 3 วิธีการในการรับมือกับสหรัฐฯ เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลไทยหลังจากนี้ โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คุณอุ๊งอิ๊ง แพรทองธาร ชินวัตร ได้จัดตั้งคณะทำงานโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ และประเมินเงื่อนไขในการเจรจาอย่างใกล้ชิด โดยมีเบอร์หนึ่งขุนคลังอย่าง คุณพิชัย ชุณหวชิร รับผิดชอบ

โดยในเบื้องต้นจะประชุมสรุปกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงานอีกครั้งในวันที่ 8 เม.ย.2568 และในสัปดาห์หน้า คุณพิชัย จะเดินทางไปสหรัฐฯเจรจาด้วยตนเอง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และ สินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนจะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

ในขณะที่ “เวียดนาม” ถึงแม้ว่าจะยอมลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯเหลือ 0 ก็ไม่ได้สร้างความพึงพอใจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่สหรัฐฯต้องการ ทำให้สหรัฐฯยังคงเดินหน้าเก็บภาษีเวียดนามต่อไปที่ 46% ต้องมาวางแผนกันใหม่ เป็นสัญญานที่บอกว่าการรับมือกับมาตรการนี้ ภายใต้เงื่อนไขการเจรจากับสหรัฐอเมริกา "ไม่ใช่เรื่องง่าย"

สงครามการค้า สงครามภาษีได้เริ่มขึ้นแล้ว และตัวเลขภาษีที่สหรัฐฯเรียกเก็บก็ออกมาสูงเกินคาด ผลกระทบที่ตามมาก็อาจจะรุนแรงกว่าที่คิดไว้ มาตรการรับมือ การเจรจาก็อาจจะต้องเร่งมือ และเข้มข้นมากกว่าที่เตรียมไว้ และที่สำคัญนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เขย่าโลก ระหว่างทาง จนถึงปลายทางสมัยประธานาธิบดีของเค้า ยังคงเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างผลกระทบไปทั่วโลกอย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง