รีเซต

สภาพัฒน์ฯ ปรับลดประมาณการจีดีพีลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.7% ชี้อาจต่ำกว่านี้หากควบคุมโควิด-19 ไม่ได้

สภาพัฒน์ฯ ปรับลดประมาณการจีดีพีลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.7% ชี้อาจต่ำกว่านี้หากควบคุมโควิด-19 ไม่ได้
บีบีซี ไทย
16 สิงหาคม 2564 ( 12:42 )
25
สภาพัฒน์ฯ ปรับลดประมาณการจีดีพีลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.7% ชี้อาจต่ำกว่านี้หากควบคุมโควิด-19 ไม่ได้

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่ความไม่แน่นอนจากวิกฤตการระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องปรับประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ทั้งปีลดลงมาอยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ต่ำสุดที่ 1.5-2.5% ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. เปิดเผยในการแถลงจีดีพี ประจำไตรมาสที่ 2/2564 ว่า ขยายตัว 7.5% ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ติดลบ 2.6% โดยสาเหตุหลักมากจากภาคการส่งออกและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 27.5% และแรงกระตุ้นจากการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.1%

 

 

"การส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ได้ส่งผลโดยตรงไปสู่การลงทุนภาคเอกชนที่เติบโต 9.2% และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในภาคการผลิตและการส่งออก โดยการส่งออกสำคัญของไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ สินค้าประเภทรถยนต์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า" เลขาธิการสศช. กล่าว

 

 

หากพิจารณาโดยรวม ในครึ่งปีแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.0% มาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้น และฐานการคำนวณที่ต่ำผิดปกติในช่วงปีที่แล้ว

 

 

"อย่างไรก็ตาม การขยายตัวที่เกิดขึ้นเป็นการขยายตัวที่เกิดขึ้นในบางสาขา โดยเฉพาะสาขาภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและภาคการส่งออกเป็นหลัก ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ขยายตัวได้เพียง 2%" นายดนุชาอธิบาย

 

 

สศช. ย้ำเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

จากแนวโน้มดังกล่าว สศช. คาดว่าว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 แสนคน จากประมาณการเดิม 5 แสนคนเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาตัวเลขในเชิงเทคนิคแล้วประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

 

 

ในส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หากพิจารณาเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาสมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 สศช. เห็นว่ายังคงมีการขยายตัวอยู่ แต่เป็นการขยายตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ที่ 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ต่อมาไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ขยายตัวที่ 0.2% และไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อยู่ที่ 0.4%

https://www.youtube.com/watch?v=LxDUzj54CNM

 

 

"เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง ในทางเทคนิค เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่กลับมีแนวโน้มลดลงจากผลของการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้นตั้งเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา" นายดนุชากล่าว

 

 

คาดจีดีพีไทยปีนี้ต่ำกว่า 0.7% หากคุมโควิด-19 ไม่อยู่

สำหรับแนวโน้มในสิ้นปีนี้ สคช. พบว่าเป็นปัจจัยสำคัญ่ในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทยคือ ความไม่แน่นอนของการจัดหาและกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัฐบาล รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก ซึ่งตลาดโลกกำลังฟื้นตัว

"วิกฤตในครั้งนี้เกิดขึ้นจากโรคระบาด ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิกฤตช่วงที่ผ่านมา ที่เราเคยเจอในปี 2540 หรือ 2552 ซึ่งเป็นวิกฤตทางการเงิน ดังนั้นจึงต้องนำเอาสมมติฐานเรื่องการแพร่ระบาดในประเทศเป็นปัจจัยหนึ่งในการประมาณการเศรษฐกิจด้วย" นายดนุชากล่าว

 

 

ด้วยเหตุนี้ สศช. จึงปรับลดลงจีดีพีของปีนี้ลงจาก 1.5-2.5% ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ 0.7-1.2% ซึ่งถือเป็นการปรับประมาณการครั้งที่ 3 ในปีนี้

 

 

สำหรับการปรับการประมาณการดังกล่าวมาจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย

 

 

1. สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศจะผ่านพ้นจุดสูงสุดและสามารถควบคุมในวงจำกัด โดยคาดว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มทรงตัวในช่วงปลายเดือน ส.ค. ก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างช้า ๆ ในเดือน ก.ย. และจะลดลงอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และสามารถเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดได้มากขึ้นตามลำดับ

2. ไม่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ฐานการผลิตและภาคการท่องเที่ยวที่สำคัญ จนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

3. การกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและตามเป้าหมายที่กำหนด โดยสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ประมาณ 85 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564

 

 

"หากยังไม่สามารถควบคุมการระบาดในช่วงไตรมาสที่ 3 และยังไม่สามารถผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในใตรมาสที่ 4 จะทำให้ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มได้ต่ำกว่า 0.7%" เลขาธิการสศช. กล่าวพร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐปกป้องกลุ่มการผลิตเพื่อการส่งออกจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ยังคงมีการขยายตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง