เปิดข้อมูลเชื้อโควิด 3 สายพันธุ์ "อัลฟ่า เบต้า เดลต้า" วัคซีนเอาอยู่แค่ไหน?
วันนี้ (21 มิ.ย.64) ในปัจจุบันมีโควิดกลายพันธุ์สามสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ประกอบไปด้วย อัลฟ่า เบต้า และเดลต้า สายพันธุ์เหล่านี้น่ากลัวแค่ไหน วัคซีนจะเอาอยู่หรือไม่
เริ่มกันที่สายพันธุ์อัลฟ่า หรือเดิมทีคือสายพันธ์ุอังกฤษ โดยข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีระบุว่าระบาดในประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคม 2564 ดูในวงกลมนี้กันชัดๆ ก้อนกลมสีแดงคือเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า ความร้ายกาจของสายพันธุ์นี้ คือ การกระจายตัวที่เร็ว ล่าสุดแพร่เชื้อแล้วกว่า 138 ประเทศ จึงถือเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดและคร่าชีวิตก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยเป็นวงกว้าง
วงกลมต่อมาคือการจำลองลักษณะของสายพันธุ์เบต้า หรือสายพันธุ์แอฟริกา พบครั้งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดนราธิวาสในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 โดยความร้ายกาจคือเชื้อที่รุนแรง กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต่อไวรัส ในกราฟฟิกดังกล่าว ทำเป็นสีแดงเข้มเพื่อให้แตกต่างจากสายพันธุ์อัลฟ่า แต่มีจุดอ่อนตรงที่แพร่เชื้อได้ช้ากว่าสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า
ต่อมา คือ สายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ก่อนกระจายไปสู่ 68 ประเทศ ทางองค์การอนามัยโลกเตือนให้จับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นไปได้ที่สายพันธุ์นี้จะระบาดไปทั่วโลก ความร้ายกาจที่สุดคือความสามารถแพร่เชื้อได้เร็วมาก เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 60% แต่เชื้อไม่ได้รุนแรงไปมากกว่าอัลฟ่า สังเกตุดูที่สีว่าจะเท่ากับเชื้อโควิดที่ปรากฏในวงกลมของอัลฟ่า
เชื่อว่ามาถึงตอนนี้ คำถามคือ วัคซีนเอาอยู่แค่ไหน มีข้อมูลจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดูกันชัดๆ เข็มฉีดยาคือสัญลักษณ์ของวัคซีน พอฉีดไปแล้วเห็นว่าเชื้อโควิดหายไป เพราะจากข้อมูลพบว่าหากฉีดวัคซีนครบโดสร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่า 70%
ส่วนเบตาที่น่าเป็นห่วง เชื้อมีความรุนแรง เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ดื้อต่อวัคซีน ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของวัคซีน แม้จะฉีดครบโดสแล้วก็อาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% พูดง่ายๆคือเชื้อแพร่ได้ไม่เร็วมากแต่เราอาจควบคุมด้วยวัคซีนได้ยากกว่าสายพันธุ์อื่น
ในขณะที่เดลต้าแม้ว่าจะแพร่เชื้อได้เร็วที่สุด แต่วัคซีนยังสามารถควบคุมได้ในระดับที่ดีกว่าสายพันธุ์เบต้า มีการยกตัวอย่างว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ใช้กัน หากฉีดครบ 2 โดสแล้ว สามารถป้องกันเชื้อแบบมีอาการได้ 60% และป้องกันอาการป่วยหนักได้ 92%
โควิด-19 คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตรงที่เชื้อสามารถพัฒนาตัวเองได้ ดังนั้น วัคซีนที่คิดค้นในช่วงก่อนที่เชื้อจะกลายพันธุ์ จึงอาจไม่สามารถป้องกันเชื้อสามสายพันธุ์ได้ 100% แต่แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน หลังจากนี้วัคซีนก็จะถูกคิดค้นและพัฒนาให้ทันเชื้อโควิด-19 และนอกจากนั้น องค์การอนามัยโลกเตือนว่ายังมีสายพันธุ์อื่นที่ต้องจับมองกันต่อ อย่างสายพันธุ์เดลต้า พลัส แกมม่า และแลมด้า