5 บริษัท ทำกำไรสวนพิษโควิด-19
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขาลงและการระบาดโควิด-19 ในช่วงปลายไตรมาสแรก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ แต่ยังมีบริษัทฯ ที่ทำกำไรสวนวิกฤติดังกล่าว จะมีบริษัทฯไหนบ้าง trueID news จะพาไปสำรวจกัน
ขอบคุณภาพจาก : https://www.tqm.co.th/
1.TQM ยอดประกันพุ่ง
กำไรสุทธิปี 63 ของ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) ที่ 706 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อน ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากโควิด-19 ทำให้ยอดขายประกันสุขจภาพเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านกรมธรรม์ สะท้อนจากกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่เติบโตดถึง 51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะเดียวกันเป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องสูงและปราศจากหนี้สิน ซึ่งทำให้มีศักยภาพในการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมและขยายฐานธุรกิจและลูกค้าเพิ่มขึ้น หลังจากไตรมาส 1/63 ผลประกอบการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากยอดการขายประกันสุขภาพรับการระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าผลประกอบการปีนี้จะเติบโตทำสถิติใหม่ต่อเนื่องจากปีก่อน
ขอบคุณภาพจาก : https://www.primamarine.co.th/
2.PRM รับประโยชน์น้ำมันขาลง
กำไรสุทธิ บมจ.พริมา มารีน (PRM) ปีนี้ที่ 1,200 ล้านบาท ทำสติใหม่ เติบโต 24% จากปีก่อน เพราะธุรกิจเรือ FSU ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่ร่วงแรง ประกอบกับการขายน้ำมันที่ยากขึ้น ทำให้ความต้องการเรือเก็บน้ำมัน (FSU) เพิ่มสูงขึ้น อัตราค่าระวางเรือจึงปรับขึ้นรุนแรงช่วง มี.ค. ทีผ่านมา ด้านผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับผลกระทบเพียงเรือขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 20% แต่จะกระทบต่อผลการดำเนินงานไม่เกิน 5% เพราะบริษัทได้ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปลี่ยนเส้นทางที่สั้นลง และเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล และ เบนซิน
ภาพประกอบจาก : AFP
3.SUPER ได้เวลาเก็บเกี่ยวผลการลงทุน
บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ปีนี้รายได้และกำไรสุทธิของบริษัทจะสร้างสถิติใหม่ เพราะธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะรับรู้กำลังการผลิตใหม่ 1,806 เมกะวัตต์ จากปีก่อน 837 เมกะวัตต์
"ปี 63 จะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลการดำเนินงานที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ คาดว่าผลประกอบการจะทำสถิติใหม่ได้อย่างแน่นอน เพราะรับรู้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจของบริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและโควิด-19 เพราะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่แน่นอน" ประธานคณะกรรมการฯ กล่าว
ภาพประกอบจาก : AFP
4.CPF อานิสงส์แห่ตุนสินค้าดันยอดขายพุ่ง
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ปี 2563 พบว่า รายได้จากกิจการในประเทศไทยอยู่ที่ 43,071 ล้านบาท ลดลง 2% ในขณะที่กิจการในต่างประเทศเติบโต 12% ด้วยรายได้ 100,734 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูป ผลงานที่เติบโตอย่างมากในต่างประเทศช่วยให้รายได้รวมของ CPF สามารถเติบโตได้ 7% ด้วยตัวเลข 143,085 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสนี้ CPF มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 6,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 47%
อย่างไรก็ตาม CPF ได้ชี้แจงว่า อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้อยู่ที่ 18% ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 14% โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาสุกรในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณสุกรที่ลดลง เพราะการระบาดของโรค ASF (African Swine Fever) ประกอบกับผลการดำเนินงานของธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ
5.TRUE รายได้ธุรกิจมือถือดีขึ้น แนวโน้มครึ่งปีหลังยังดีต่ออีก
กลุ่มทรู มีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการและ EBITDA อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากการให้บริการหลักเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลักดันให้รายได้จากการให้บริการเติบโต 2% จากปีก่อนหน้า เป็น 2.66 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 2/63 แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบเต็มไตรมาสจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ผลประกอบการของบริษัทฯ ในไตรมาส 2/63 ที่มีกำไรสุทธิไปถึง 1,262 ล้านบาท เติบโตถึง 19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ยังพลิกจากที่ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1/63 อีกด้วย ซึ่งถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดกันเอาไว้มาก ฐานลูกค้ารวมของธุรกิจมือถือกลับมาขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามฐานลูกค้ากลุ่มที่น่าจะยังไม่กลับมาคือลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว.
ขอบคุณข้อมูลข่าว : efinancethai
ภาพปกโดย Gerd Altmann จาก Pixabay