วิธีปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ออนไลน์ล่าสุด เช็กสถานะ-เงื่อนไขก่อนทำสัญญา

วิธีปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ออนไลน์ล่าสุด เช็กสถานะ-เงื่อนไขก่อนทำสัญญา
เปิดขั้นตอนทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ออนไลน์ ใครบ้างมีสิทธิเข้าร่วม เช็กสถานะผู้กู้ เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ครบ
ตรวจสอบสถานะปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ล่าสุด
ทำสัญญาออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง เช็กก่อน! คุณอยู่ในกลุ่มมีสิทธิหรือไม่
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แจ้งปรับแผนดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมที่มีสถานะค้างชำระ โดยกำหนดยอดหักสูงสุด 3,000 บาทต่อบัญชี เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป เว้นแต่ผู้กู้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ไว้แล้ว
หากไม่ต้องการให้ถูกหักเงินเดือน ผู้กู้สามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
- ขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดค่างวดรายเดือน ขยายระยะเวลาชำระ ลดเบี้ยปรับ 100% และ ปลดผู้ค้ำประกัน
- ชำระหนี้ค้าง ให้ครบถ้วน พร้อมแจ้งหลักฐานต่อนายจ้าง เพื่อลดยอดหักเงินเดือน
กลุ่มผู้กู้ที่สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ได้
- กลุ่มก่อนฟ้องคดี
- กลุ่มที่ถูกบอกเลิกสัญญาแต่ยังไม่ถูกฟ้อง
- กลุ่มที่ถูกฟ้องแต่ยังไม่มีคำพิพากษา
- กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วแต่ยังไม่ถูกบังคับคดี หรือถูกบังคับคดีแล้ว
- กลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระ
เงื่อนไขสําหรับการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
- ผู้กู้ต้องชำระหนี้แบบรายเดือน เท่ากันทุกเดือน
- ต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และปิดบัญชีใน ระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี
- อายุผู้กู้เมื่อถึงงวดสุดท้ายต้องไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
- ดอกเบี้ยใหม่อยู่ที่ 1% ต่อปี และเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี
- เมื่อปิดบัญชีสำเร็จจะได้รับ ส่วนลดเบี้ยปรับ 100%
- เมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันจะพ้นภาระทันที
หากผิดนัดชำระสะสมครบ 6 งวด หรือหากเหลืองวดไม่ถึง 6 งวดแล้วค้างแม้แต่งวดเดียว สัญญาจะถือเป็น โมฆะ และจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องหรือบังคับคดีอีกครั้ง
อ่านฉบับเต็มคู่มือการใช้งาน
การคำนวณยอดหนี้ใหม่
กยศ. จะคำนวณยอดหนี้ใหม่ โดยเริ่มจาก
- หนี้เงินต้น (เฉพาะส่วนที่ครบกำหนด)
- ดอกเบี้ย
- เบี้ยปรับ
กรณีไม่มีหนี้คงเหลือ จะถือว่าผู้กู้ปิดบัญชีแล้ว และได้รับสิทธิปรับโครงสร้างหนี้พร้อมส่วนลดเบี้ยปรับเต็มจำนวน
วิธีทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ออนไลน์ (e-Contract) ล่าสุด 2568
การปรับโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว ผู้กู้สามารถทำได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ โดยมีขั้นตอนที่ชัดเจน พร้อมระบบลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract)
ตั้งค่าเบราว์เซอร์ Google Chrome ก่อนเริ่ม
เพื่อให้ใช้งานระบบได้อย่างราบรื่น ควรตั้ง Google Chrome เป็นเบราว์เซอร์เริ่มต้น
Android
- เข้า Settings
- เลือก Apps หรือ Default Apps
- เลือก Default Browser App
- ตั้งค่าเป็น Google Chrome
iOS
- เข้า Settings
- ค้นหาและกด Google Chrome
- เลือก Default Browser App
- ตั้งค่าเป็น Google Chrome
ขั้นตอนการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ออนไลน์
- เข้าเว็บไซต์ระบบ e-Contract และกด “ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้”
- กรอกเลขประจำตัวประชาชน
- กรอกวัน/เดือน/ปีเกิด (พ.ศ.)
- ยืนยันตัวตนด้วยแอป ThaID โดยสแกน QR Code
- กรอกเบอร์โทรศัพท์ อีเมล และเลือกบัญชีเงินกู้ที่ต้องการปรับโครงสร้าง
- ทำเครื่องหมายยอมรับเงื่อนไขการเก็บข้อมูล แล้วกด “บันทึกรายละเอียด”
- ตรวจสอบข้อมูลยอดหนี้และงวดผ่อนชำระ แล้วกด “รายละเอียดสัญญา”
- ยืนยันความถูกต้องของข้อมูล แล้วกด “ยืนยัน”
- สแกน QR Code ด้วย ThaID เพื่อยืนยันตัวตนและลงลายมือชื่อ
- ระบบจะส่งลิงก์ยืนยันการลงนามไปที่อีเมล ให้กดยืนยันภายใน 5 นาที
- หากยืนยันสำเร็จ ระบบจะแจ้งว่า “ทำรายการเรียบร้อย”
- หากมีหลายบัญชี ระบบจะแจ้งให้ดำเนินการต่อในบัญชีอื่น
- ตรวจสอบและดาวน์โหลดสัญญาได้จากระบบ
กยศ. เปิดให้ผู้กู้ที่มีสถานะค้างชำระสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ได้ ลดค่างวด ผ่อนนานขึ้น ลดเบี้ยปรับ 100% พร้อมปลดผู้ค้ำ ตรวจสอบสิทธิ-สถานะก่อนยื่นคำขอผ่านระบบ e-Contract เพื่อไม่ถูกหักเงินเดือน