รีเซต

สรุป #ล้างหนี้กยศ. กยศ.แจง "ยกเลิกหนี้ กยศ." ทำคนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา

สรุป #ล้างหนี้กยศ. กยศ.แจง "ยกเลิกหนี้ กยศ." ทำคนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา
Ingonn
21 สิงหาคม 2565 ( 07:56 )
1.5K

"#ล้างหนี้กยศ." กลายเป็นแคมเปญที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีการประกาศล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กยศ. ภายใต้ชื่อ #ล้างหนี้ กยศ. โดยให้รัฐบาลเข้ามาเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ ซึ่งเป็นการผลักดันกฏหมาย ยกเลิกหนี้ให้คนที่ติดหนี้ กยศ ที่อ้างว่ามีหนี้สินแล้วไร้แรงจูงใจในการเริ่มต้นชีวิต การศึกษาเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องดูแล โดยอีกฝั่งในโลกออนไลน์มองว่า หนี้ กยศ. เป็นการกู้ยืมเงินกองทุน เพื่อใช้ในการศึกษา เป็นทุนการศึกษาที่ยืมมาต้องใช้คืน

 

กระแส #ล้างหนี้ กยศ. กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับการวิพากษย์วิจารณ์มากขึ้น ล่าสุด กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า กองทุนหมุนเวียนไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินให้กู้ยืม ตั้งแต่ปี 61 ต้องใช้เงินหมุนจากการชำระคืน ให้รุ่นน้องกู้ ถ้ายกเลิกหนี้  337,857 ล้าน จะทำคนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนไม่ได้รับโอกาส

 

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงประเด็นที่มีข้อโต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์ #ล้างหนี้กยศ. จากการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กยศ. ซึ่งหากยกเลิกหนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เนื่องจาก กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินในการให้กู้ยืม 


นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ตามที่ปรากฏเป็นประเด็นที่มีข้อโต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์ #ล้างหนี้กยศ. โดยการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กยศ. นั้น กองทุนขอชี้แจงว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท และกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย 


ที่ผ่านมากองทุน กยศ. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้วยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท หากยกเลิกหนี้ดังกล่าวจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา 


อย่างไรก็ตาม กองทุนอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมาย ให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระ และลดอัตราเบี้ยปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และในขณะนี้กองทุนได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดย

  • ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ 
  • ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว 
  • ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี 
  • ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) 


อีกทั้ง กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันอีกด้วย ทั้งนี้ กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา”

 

ข้อมูล กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง