รีเซต

อึ้ง! เด็กไทยเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ

อึ้ง! เด็กไทยเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ
TNN ช่อง16
30 สิงหาคม 2565 ( 16:27 )
119

ผลการศึกษา พบเด็กไทยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และร้อยละ 17 ของวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 13-17 ปี มีความคิดฆ่าตัวตาย

วันนี้ (30 ส.ค.65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจ และจิตสังคมสำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยกรมสุขภาพจิต ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นความสำคัญในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความเครียดในกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุน้อย โดยมีการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สถานพินิจ และการให้ความรู้กับครอบครัว ซึ่งได้เปิดสายด่วน 1323 รับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งในระยะหลังพบว่า ปัจจุบันผู้ที่มีปัญหาเป็นกลุ่มวัยรุ่น 

ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ ความขัดแย้งความไม่เข้าใจในครอบครัว จนถึงปัญหาการเรียน และความรัก ซึ่งหนักที่สุดคือในเรื่องของการฆ่าตัวตาย ที่โทรเข้ามาปรึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขห่วงที่สุด คือกลุ่มที่เข้าถึงการช่วยเหลือไม่ได้

ทั้งนี้ รายงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม สำหรับเด็กและวัยรุ่น ในเอเชียตะวันออกแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย ยูนิเซฟ (unicef) กรมสุขภาพจิต และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ในประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า วัยรุ่นไทย อายุ 10-19 ปีประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทย อายุ 5-9 ปีประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์

นอกจากนี้ ยังพบว่า การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจสุขภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 พบกับร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย 

อย่างไรก็ตาม จากรายงานทั้งหมด จึงทำให้ประเทศไทยต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อยกระดับคุณภาพ การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำนวนจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ที่มีไม่เพียงพอในแต่ละหน่วยงาน และความรวดเร็วของบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ พัฒนาการ และอนาคต.


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง