รีเซต

NASA จับภาพพายุหมุนบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

NASA จับภาพพายุหมุนบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
TNN ช่อง16
27 มีนาคม 2566 ( 00:28 )
83
NASA จับภาพพายุหมุนบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา นาซา (NASA) ได้ทำการรายงานผ่านเว็บไซต์ว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ได้ตรวจพบพายุหมุนในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงหนึ่งที่มีชื่อว่าวีเฮทเอส 1256 บี (VHS 1256 b)

สภาพอากาศที่แปรปรวนของดาวเคราะห์ 

โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้ตรวจพบชั้นบรรยากาศที่แปรปรวนและมีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 1,500 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 830 องศาเซลเซียส ซึ่งมีการหมุนวนของหมู่เมฆซิลิกายาวนานต่อเนื่องถึง 22 ชั่วโมง ทำให้ค่าความส่องสว่างปรากฏแปรปรวนจึงถูกสังเกตเห็นจากนักดาราศาสตร์ อีกทั้งยังพบว่ามวลอากาศร้อนมีการลอยตัวสูงขึ้น ในขณะที่มวลอากาศเย็นลอยตัวต่ำลง


นอกจากนี้ยังมีการนำข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ไปศึกษาเพื่อหาองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศของมันด้วย ซึ่งพบว่าชั้นบรรยากาศของวีเฮทเอส 1256 บีมีน้ำ, มีเทน, คาร์บอนมอนอกไซด์และร่องรอยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ด้วย โดยเป็นผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona)


โดยอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือฝุ่นซิลิกาในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิตบนโลก

ดาวฤกษ์แม่ของวีเฮทเอส 1256 บี (VHS 1256 b) 

สำหรับดาวเคราะห์วีเฮทเอส 1256 บีนั้นอยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่ของมันมากกว่าที่ดาวพลูโตอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ถึง 4 เท่า และอยู่ห่างจากโลกของเราออกไป 40 ปีแสง โดยมันมีดาวฤกษ์แม่ให้โคจรรอบถึง 2 ดวง ซึ่งมันมีคาบการโคจรนาน 10,000 ปี


โดยนักดาราศาสตร์คาดว่ามันมีอายุเพียง 150 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับอายุของดาวเคราะห์ ด้วยเหตุนี้อาจทำให้มันมีความแปรปรวนสูงและเกิดพายุหมุนวนในชั้นบรรยากาศ


สำหรับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะหรือเอ็กโซ แพลเน็ต (Exo Planet) คือดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะและมีดาวฤกษ์แม่เป็นของตนเอง ซึ่งอาจมีดาวฤกษ์แม่มากกว่า 1 ดวง ก็ได้


ข้อมูลและภาพจาก WEBB SPACE TELESCOPE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง