รีเซต

เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย นักวิเคราะห์ชี้สวิงตามทิศทางดอลลาร์และราคาทองทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดใหม่

เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย นักวิเคราะห์ชี้สวิงตามทิศทางดอลลาร์และราคาทองทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดใหม่
มติชน
6 สิงหาคม 2563 ( 09:34 )
167

เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย กรอบเงินบาทวันนี้ 30.90 – 31.10 บาทต่อดอลลาร์ นักวิเคราะห์ชี้สวิงตามทิศทางดอลลาร์และราคาทองทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดใหม่

 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)กล่าวว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 6 สิงหาคม อยู่ที่ระดับ 31.03 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 30.90-31.10 บาทต่อดอลลาร์

 

ในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 และ STOXX 600 ปรับตัวขึ้นต่ออีก 0.5-0.6% แม้ตัวเลขเศรษฐกิจรายงานลบสลับบวกแต่มีแนวโน้มการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐเข้ามาหนุน

 

โดยในมุมตัวเลขเศรษฐกิจ การจ้างานภาคเอกชนในสหรัฐ (U.S. ADP employment change) เพิ่มขึ้นเพียง 1.67 แสนตำแหน่งจากที่คาดไว้ 1.2 ล้านตำแหน่ง แต่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิต (ISM non-manufacturing) กลับฟื้นตัวขึ้นถึง 58.1จุด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 57.1จุดในเดือนก่อน ชี้ว่าภาคบริการอาจเป็นแรงส่งสำคัญที่จะทำให้บริษัทในสหรัฐกลับมาจ้างงานเพิ่มขึ้น

 

ภาพตลาดที่ปรับตัวบวกและบอนด์ยีลด์ฟื้นขึ้น เป็นสัญญาณตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) โดยในช่วงนี้ แม้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีจะฟื้นตัวขึ้น 4bps มาที่ 0.54% แต่จะไม่สามารถทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าได้เนื่องจากเป็นแค่การ “ขึ้นจากระดับต่ำ” เช่นเมื่อเทียบกับบอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปี (TGB10y-UST10y) ยังมีส่วนต่างราว 0.60% ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่กันยายนปี 2015 จึงไม่มีความต้องการพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมาก

 

ภาพการอ่อนค่าของดอลลาร์ ยิ่งชัดเจนเมื่อตลาดเชื่อว่าจะมีนโยบายการคลังเพิ่มเติม ทำให้ดัชนีดอลลาร์ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในคืนที่ผ่านมา โดยโครนนอร์เวย์ (NOK) และฟรังก์สวิส (CHF) เป็นสองสกุลเงินที่แข็งค่านำ ชี้ว่าตลาดเพียงแค่ไม่ต้องการถือดอลลาร์แต่ยังเลือกถือสกุลเงินปลอดภัยอยู่

 

ด้านเงินบาทก็ทยอยแข็งค่าตามทิศทางของดอลลาร์และราคาทองคำที่ทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดใหม่ นอกจากนี้การที่กนง. “คง” อัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ก็ทำให้ตลาดมองข้ามความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายการเงินในไทยไปแล้ว จุดที่ต้องระมัดระวังต่อไปคือตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ (U.S. Non-farm Payrolls) โดยถ้าการจ้างงานชะลอตัวกว่าคาด ก็จะกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง