เปิดตัวอย่างเป็นทางการ “สภาการสื่อมวลชน” เดินหน้ากำกับดูแลทุกแพลตฟอร์ม
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 24 ปี โดยมีพิธีเปิดตัว “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการ และลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กับ WISESIGHT (Thailand) Co., Ltd จัดทำ Sosical Listening เพื่อสนับสนุนกระบวนการกำกับดูแลด้านจริยธรรม พร้อมจัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เทคโนโลยีสื่อในอนาคต กับความท้าทายการกำกับดูแล” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ภายในงานยังได้จัดเสวนาหัวข้อ “เทคโนโลยีสื่อในอนาคต กับความท้าทายการกำกับดูแล” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ beartai.com, นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เดอะแสตนดาร์ด, นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าวสาวจากไทยพีบีเอส
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่จะเปิดสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติอย่างเป็นทางการ จากยุคอนาล็อค มาสู่ยุคดิจิทัล โดยเริ่มจากสภาการหนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่มา 23 ปี ได้ยกระดับมาเป็นสภาการสื่อมวลแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 63 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการกำกับดูแลกันเองของสื่อที่หลอมรวมเป็นสื่อออนไลน์เกือบทั้งหมด ภารกิจแรกคือการยกร่างข้อบังคับจริยธรรมสื่อให้ครอบคลุมบังคับใช้กับสื่อทุกประเภท ทุกแพลตฟอร์ม และกำลังแก้ไขข้อบังคับเรื่องร้องเรียนให้ทันสมัยตอบสนองกับสื่อดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการทำงานเชิงรุก รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและผู้เสียหาย โดยจะะมีระบบติดตามความคืบหน้าที่จะทำงานตามกรอบเวลา
อย่างไรก็ตาม การทำงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้ง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ให้มีการปรับตัวทั้งด้านธุรกิจและเนื้อหาภายใต้กรอบจริยธรรม ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ ฝึกอบรม พร้อมทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชนต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำงานร่วมกับสภาการสื่อมวลชนอินโดนีเซีย สภาการสื่อมวลชนเมียนมา สภาการสื่อมวลชนติมอร์เลสเต พร้อมทั้งจะขยายความสัมพันธ์ไปยังประเทศอื่นต่อไป ทั้งหมดเป็นการกำกับดูแลและส่งเสริมเสรีภาพ ส่งเสริมสนับสนุนให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษว่า ในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยเนื้อหาเท็จที่สร้างปัญหามากมาย เช่น เรื่องโควิด-19 มีนักวิทยาศาสตร์ ออกมาบอกว่าฉีดวัคซีนเสียชีวิต จนกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาชี้แจง หรือเรื่องฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 ที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ในการแพร่ระบาดมี ตัวชี้วัดคือ R0 เช่นอัตราการติดเชื้อจากคน 1 คนไปสู่ 5 คน คือ R5 โดยอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอยู่ที่ R2.5 หรือเชื้อพันธุ์เดลตา จะสูงถึง R8-10 ขณะที่การแพร่ระบาดของสื่อ อย่างทวิตเตอร์ 4 คน ขณะที่อินสตราแกม อยู่ที่ 130 คน การกระจายข่าวสารจึงเกิดการก้าวกระโดด หากเป็นข่าวดีก็เป็นเรื่องดี แต่หากเป็นข่าวเท็จก็จะนำไปสู่ปัญหาในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ในระบบภูมิทัศน์ของสื่อใหม่ มีสื่อออนไลน์ มีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ อย่าง กูเกิ้ล เฟซบุ๊ค การกำกับดูแลต้องสัมพันธ์กัน โดยตัวอย่างมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1. การกำกับตัวเอง ของสหรัฐ 2. การกำกับโดยกฎหมาย ของยุโรป และ 3. การกำกับโดยรัฐของ จีน สำหรับประเทศไทยคงมาไกลเกินกว่าจะใช้แบบที่ 3 ดังนั้นต้องหาส่วนผสมระหว่าง แบบที่ 1 และแบบที่ 2 ซึ่งยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการออกกฎหมายบริการดิจิทัลหรือ Digital Service Act จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการกำกับสื่อออนไลน์ครั้งใหญ่ โดยแบ่ง ผู้เกี่ยวข้องเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. ตัวกลางสื่อสาร 2. ผู้ให้บริการโฮสติ้ง 3. แพลตฟอร์ม และ 4. แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ หากตัวกลางสื่อสารนำเสนอเนื้อหาผิดกฎหมาย ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเท็จ ทำให้ปัญหาจะถูกยกเว้นความรับผิดชอบ ซึ่งหากมีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือศาลก็จะต้องจัดการลบทิ้ง โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลสถิติการลบทิ้งให้สาธารณชนได้รับทราบ ส่วนแพลตฟอร์มจะต้องมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและจัดการโดยเร็ว รวมทั้งระงับบริการผู้ใช้ที่สร้างปัญหา ขณะที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่จะต้องมีกลไกประเมินความเสี่ยง
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า กลไกของสหรัฐในการกำกับตัวเองเพราะสิทธิการแสดงออกได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ จึงเน้นไปที่กำกับดูแลกันเอง ไม่มีการปิดกั้นแต่ก็ยังมีการถกเถียงว่าเรื่องไหนที่รัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงหรือไม่ แต่ไม่มีข้อปฏิบัติที่ชัดเจน ในส่วนของ Cass R Sunstein ผู้เขียนหนังสือ Liars falsehoods and free speech in an age of deception มองถึงประเด็นที่ไม่ควรยอมให้เกิดการเผยแพร่ว่าต้องมีเนื้อหาที่มีเจตนาร้าย สร้างความเสียหายใหญ่โต แก้ไขได้ยากด้วยเวลาน้อย เพราะเดิมจะใช้วิธีการแก้ไขด้วยการให้เนื้อหาที่ถูกต้องเข้าไปหักล้างเนื้อหาที่เป็นเท็จ แต่หากแก้ไขได้ยากหรือต้องใช้เวลาอาจไม่ทันการ อีกทั้งกูเกิ้ล ก็มีคำขอให้นำเนื้อหาออกจากกูเกิ้ล 2 หมื่นกว่ารายการ เช่นเดียวกับ ทวิตเตอร์ ที่มีหลายหมื่นคำขอ
อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกามีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือผู้ประกอบการ เฟซบุ๊ค และ ทวิตเตอร์ ทำการแบนบัญชีของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการชั่วคราวจากการโพสต์หนุนม็อบก่อจลาจล โดยกลไกของ เฟซบุ๊ค มี คณะกรรมการ Oversight Board มาจากบุคคลที่มีชื่อเสียง 20 คน มานั่งเป็นประธานร่วม และมีองค์คณะ 5 คน มีกรอบเวลาการพิจารณา 90 วัน ได้รับงบสนับสนุน 130 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นกลไกการทำงานที่เข้าไปจัดการเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังของเฟซบุ๊ค ที่มีเรื่องเข้ามาปีละหลายล้านครั้งและทุกครั้งที่ลบข้อความก็จะมีการบันทึกและสามารถอุทธรณ์ได้ ตรงนี้เป็นโมเดลใหม่ ขณะที่ในส่วนของประชาชนเองก็ต้องมีการสร้างความรู้เท่าทันสื่อให้ประชาชนด้วย จากข้อมูล ของ OECD พบว่า เด็กไทยได้รับการสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์สูงกว่าประเทศพัฒนา แต่ในทางปฏิบัติกลับยังขาดทักษะจริง การจัดการอีเมลที่เป็นสแปมอยู่ที่ลำดับ 77 จาก 78 ประเทศ สอดรับกับคะแนนการอ่านที่ลดลงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ โลกออนไลน์ยังเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เป็นเท็จ ควรสร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อทั้งการย้อนไปดูต้นเรื่องที่มา ตรวจความน่าเชื่อถือแหล่งที่มา สอบทานกับแหล่งที่น่าเชื่อถือ ระวัง Deep Fake เช็คกับหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไทยก็มี Cofacts รวมทั้งสร้างความสมดุลในการบริโภคข่าวออนไลน์ โลกเรากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านสื่อ เกิดสื่อออนไลน์ มีการกระจายข้อมูลอย่างรวดเร็วมากกว่าการกระจายของเชื้อโรคด้วยซ้ำ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในหลายรูปแบบ
ประเทศไทยมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน มีดำริที่จะยกร่างโดยยึดกฎหมายจากสหภาพยุโรปเป็นต้นแบบ ส่วนภาคธุรกิจก็จะมาจากต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ค ก็จะมีข้อกำหนดจากประเทศเขาติดมา หรือ แพลตฟอร์ม ที่มีทั้งแพลตฟอร์มเปิด และ ปิด อย่างไลน์ การตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นเท็จก็ทำได้ยากและง่ายแตกต่างกัน บทบาทองค์กรวิชาชีพสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็จะช่วยกันเติมเต็ม นอกจากกฎหมายที่จะออกมา แต่บางธุรกิจอาจไม่ทำตาม ทั้งหมดนี้โจทย์เปิดให้ช่วยกันพิจารณาว่าจะมีมาตรการผสมกันอย่างไรเพื่อกำกับดูแลสื่อให้ปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับสังคมมากที่สุด
ในส่วนของงานเสวนา หัวข้อ “เทคโนโลยีสื่อในอนาคต กับความท้าทายการกำกับดูแล” นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เดอะแสตนดาร์ด กล่าวว่า การตัดสินใจเข้ามาร่วมกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หัวใจหลักที่อยากเข้ามา คือเรื่องความน่าเชื่อถือที่ต้องการยกระดับมาตรฐานให้เท่ากับพี่ ๆ ในวงการสื่อ โดยสื่อใหม่ ๆ อาจเน้นความคิดสร้างสรรค์ แต่คนที่เป็นสื่อต้องเน้นความน่าเชื่อถือ มีจรรยาบรรณ และพิสูจน์ด้วยตัวเอง อีกด้านหนึ่งคือการรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง เช่น การผลักดันกฎหมายหรือต่อต้านกฎหมายบางประเภท
อย่างไรก็ตาม โดยหลักการไม่ควรให้รัฐมากำกับสื่อ เพราะสื่อควรจะมีเสรีภาพในตัวเอง แต่เมื่อโจทย์เปลี่ยนชัดความคิดแบบเดิม ความน่าเชื่อถือแต่ก่อนไม่เหมือนปัจจุบัน หัวใจสำคัญการกำกับดูแล คือ การล้อมกรอบตีกรอบ ทำอย่างไรที่จะจูงใจคนทำสื่อออนไลน์ให้เข้ามาในสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ ทำยังไงให้คนที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นสื่อมืออาชีพเข้ามา อาจต้องหาแรงจูงใจ เพราะบางเพจที่ช่วงวิกฤตยังช่วยหาเตียงให้คนป่วยด้วยนั้น ย่อมมีการนำไปสู่เรื่องของอีโมชั่น โดยไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด เพราะแม้แต่ช่วงม็อบก็ไม่สามารถรายงานข่าวให้ถูกใจทุกคนได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดว่าจะสร้างกลุ่มก้อนที่มีความน่าเชื่อถือของสื่ออย่างไรให้ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลง
นายนครินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสื่อถูกคาดหวังและต้องแบกรับความคาดหวัง เกิดปรากฏการณ์ Call Out ให้สื่อนำเสนอข่าวบางข่าว ไม่เสนอจะถือว่าผิด ดาราเองก็โดนเยอะ ซึ่งบางประเด็นสื่อมี แต่ไม่ได้พูดเพราะจรรยาบรรณ กฎหมาย แต่ผู้บริโภคเองก็มีการกดดันสื่อ แม้แต่เรื่องไลฟ์สดที่เป็นความท้าทาย ก็ใช้วิธีไต่เส้นลวด ไม่ได้มีหลักปฏิบัติตายตัว แต่ก็ใช้วิธีพากย์ทับ หรือหันกล้องไปทางอื่นเวลาเกิดประเด็นล่อแหลม โดยอีกโจทย์ใหญ่คือแเรื่องของธุรกิจที่จะทำให้เกิดการอยู่รอดโดยต้องทำให้เกิดความสมดุล ซึ่งถือเป็นความท้าทาย แต่เชื่อว่าสุดท้ายเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน คนดูก็จะกลับมาหาสื่อมืออาชีพ
ด้านนายณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ beartai.com กล่าวว่า อาจกล่าวได้ว่าสื่อออนไลน์มีบทบาท มากกว่าสื่อเก่า เพราะทุกคนเสพข่าวผ่านสื่อออนไลน์ และเส้นแบ่งสื่อเก่ากับใหม่ แทบหายไป เกิดหลอมรวม นำข่าวออนไลน์ไปอ่านในโทรทัศน์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีที่มีการรวมตัวกันให้มีพลังมากขึ้น ได้แชร์มุมมองแลกเปลี่ยน แต่ในแง่การทำงาน จากเดิมที่เคยมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ที่มี บก.คอยตรวจสอบความถูกต้อง พอเป็นสื่อออนไลน์ แข่งความเร็วเป็นหลัก บก.ส่วนใหญ่ ไม่ได้ตรวจสอบข่าวทุกชิ้น แม้แต่ beartai เองก็มีหลุดบ้าง
อีกทั้งบทบาทในปัจจุบันก็มีทั้งความเป็นส่วนตัว และ CCO ของ beartai เป็นหมวกสองใบ ที่กลายเป็นเหมือนใบเดียว บางครั้งโพสต์เรื่องการเมืองลงสเตตัสส่วนตัวก็มีทัวร์ลง คนยังแยกไม่ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับ beartai ทำให้การทำงานค่อนข้างละเอียดอ่อน ไม่อาจแยกแยะเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน ขณะที่หลายสื่อตอนนี้ก็เลือกใช้การพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว ซึ่งไม่ได้พูดโกหกแต่ไม่พูดความจริงทั้งหมดเพื่อให้กลุ่มคนที่ติดตามยังถูกใจ ซึ่งตรงนี้ทาง beartai ไม่มีปัญหามากนักเพราะไม่ได้พูดเรื่องการเมืองหรือสังคมมาก แค่ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด ไม่ใช่แค่แหล่งข่าวเดียว ครั้งหนึ่งเคยเขียนสคริปต์แล้วถูกตั้งคำถามว่าจะทำให้เกิดการเข้าใจว่าเข้าข้างฝ่ายนี้มากกว่าอีกฝ่าย แต่เราก็ยืนยันว่าป็นข้อมูลจริง ไม่ได้สนใจว่าจะสนับสนุนฝ่ายใด
นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในการควบคุมกำกับกันเองของสื่อ เมื่อมีสมาชิกรายใดกระทำผิดก็ใช้วิธีเดินออกไป จากที่เคยเป็นกรรมการในสมาคมสื่อ พยายามประเมินจุดอ่อนและแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้น เพราะหากองค์กรสื่อไม่ศักดิ์สิทธิ์การกำกับกันเองจะได้ผลแค่ไหน และมีคนอยากให้ใช้กฎหมายเข้มงวดเพราะคุณกำกับกันเองไม่ได้ วันนี้มีการยกระดับ มีสมาชิกสื่อออนไลน์ มี เดอะแสตนดาร์ด เข้ามา คนอื่นเริ่มเข้ามาก็จะสะท้อนให้เห็นความน่าเชื่อถือที่มากกว่าเดิม เป็นนิมิตหมายที่ดี โดยการกำกับกันเองเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการขับเคลื่อนในนามองค์กรก็จะมีพลัง จากที่อยู่ในวงการนี้มานานหัวใจสำคัญของสื่อคือความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่คนทำสื่อคือทำให้สังคมเชื่อถือ ข้อมูลต้องได้มาตรฐาน คนชำนาญทักษะเฉพาะด้าน เช่น ดาต้า เจอร์นอลิซึม มีการตรวจสอบข่าวป้องกันไม่ให้เกิดเฟคนิวส์
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่สื่อคาดหวังคือการกำกับตัวเองของสื่อ แต่หากมาดูบริบทของสื่อเวลานี้ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรมีมาตรฐานระดับเดียวกัน อีกทั้งวันนี้จากการเปลี่ยนไปสู่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีตัวแทนจากสื่อเก่า สื่อออนไลน์ มาร่วม แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่สื่อเท่านี้ ยังมี อีต่างๆ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ อีกทั้ง จากการสอบถามข้อมูลทำงานวิจัยจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน หลายคนไม่ได้สนใจสื่อแค่สื่อในองค์กรวิชาชีพ ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อก็ต้องมาคุยกันว่าระบบภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป องค์ประกอบที่มีอยู่นั้นครบถ้วนหรือยัง ตรงนี้เป็นความท้าทายถ้าเราจะกำกับตัวเอง ซึ่งคงไม่อยากให้ภาครัฐเข้ามากำกับเหมือนประเทศจีน แต่ก็ต้องถามว่าการกำกับตัวเองนั้นเวลานี้เราพร้อมแล้วหรือยัง
อีกประเด็นที่น่าสนใจเวลานี้คือ เรื่อง Call Out หรือ โซเชียล เร็กกูเรชั่น แต่ก็มีการตั้งคำถามว่า โซเชียลเรามี “เดอะแสตนดาร์ด” พอหรือยัง หลายครั้งบรรยากาศในโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยอารมณ์ ตั้งแต่ 2549 แบ่งเป็นกลุ่มก้อนที่เห็นชัด โซเชียลเร็กกูเรชั่น เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องดูว่าเต็มไปด้วยหลักการ หรือเต็มไปด้วยอารมณ์ ข้อมูลข่าวสารในแต่ละวัน มีทั้งข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และ Hate of speed เราต้องการกำกับตัวเอง เดิมมี traditional เดียว มีกองบรรณาธิการเข้มแข็ง แต่พอมีโซเชียลมีเดีย ทุกอย่างแข่งกับความไว บทบาท กองบรรณาธิการลดลง ละเลยเรื่องจริยธรรม ความรับผิดชอบ เช่น ข่าวลูกผูกคอตายเพราะแม่ไม่มีเงินซื้อแทบเล็ต ที่ขาดการตรวจสอบแม้แต่สื่อใหญ่ ก็ยังนำไปเล่นโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน