ต้นแบบหุ่นยนต์สายลับ ? เมื่อจบภารกิจ ก็สลายหายไปเองได้
นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้พัฒนาหุ่นยนต์ผิวนุ่ม ซึ่งสามารถละลายกลายเป็นแอ่งสารเหนียวได้ด้วยตัวเอง เมื่อได้รับการกระตุ้นจากแสง
มิน-ฮา โอ (Min-Ha Oh) หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่าหุ่นยนต์นี้เป็นการสร้างหุ่นยนต์เลียนแบบความตายในวงจรชีวิตของมนุษย์ นั่นคือมันสามารถจบชีวิตการใช้งานของมันเองได้
‘ความตาย’ หรือการสลายกลายเป็นแอ่งสารเหนียวเพื่อจบชีวิตการใช้งานของหุ่นยนต์นี้ เป็นผลมาจากการกระตุ้นโดยไฟ LED อัลตราไวโอเลตภายใน ซึ่งก็จะทำให้องค์ประกอบทางเคมีของหุ่นยนต์ไม่เสถียร กระบวนการนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทั้งนี้เคยมีนักวิจัยเสนอเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้เพื่อทำหน้าที่เป็นสายลับ เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นหุ่นยนต์ก็จะละลายไปเอง ดังนั้น งานวิจัยนี้ มีแนวโน้มว่าเราอาจจะเห็นหุ่นยนต์สายลับดังกล่าวได้ใน 2-3 ทศวรรษข้างหน้าก็เป็นได้
ภาพจาก Sciencalert
ตัวหุ่นยนต์จากงานวิจัยนี้ยาว 3 เซนติเมตร ส่วนประกอบหลักของตัวหุ่นยนต์คือสารประกอบเคมีที่ชื่อ ไดฟีนิลิโอโดเนียม เฮกซาฟลูออโรฟอสเฟต (Diphenyliodonium Hexafluorophosphate) ผสมเข้ากับสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า เรซินซิลิโคน (Silicone Resin) ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะช่วยให้หุ่นยนต์ยังมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง ทนต่อแรงภายนอกและแรงกดดันได้โดยไม่แตกหักหรือเสียรูปง่าย แต่ก็มีความยืดหยุ่นที่ทำให้สามารถโค้งงอและเคลื่อนที่ได้หลายวิธี ส่วนการเคลื่อนไหวจะใช้แรงดันอากาศหรือก๊าซ (Pneumatic-powered wriggles)
“หุ่นยนต์แบบนุ่มนี้มีความแตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปตรงที่หุ่นยนต์ทั่วไปมีการเคลื่อนไหวที่จำกัด แต่หุ่นยนต์แบบนุ่มมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนการทำงานขั้นสูงและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนได้ เช่น การเข้าไปแก้ไขปัญหาของชิ้นส่วนที่มีความละเอียดอ่อน หรือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน” ทีมวิจัยได้อธิบาย
ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้จะมีประโยชน์สำหรับงานต่าง ๆ เช่น การส่งยาไปยังส่วนต่าง ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงในร่างกายของเรา การส่งเข้าไปในพื้นที่ภัยพิบัติ หรือมหาสมุทรที่มีความลึกมาก
ภาพจาก Sciencalert
หลังจากนั้นเมื่อสารประกอบเคมี ไดฟีนิลิโอโดเนียม เฮกซาฟลูออโรฟอสเฟตที่ใช้สร้างหุ่นยนต์สัมผัสกับแสงอัลตราไวโอเล็ตมันก็จะเปลี่ยนเป็นฟลูออไรด์ ทำให้โครงสร้างทั้งหมดอ่อนลงจนถึงจุดที่อุณหภูมิสูงก็จะทำให้มันละลาย ทิ้งไว้เพียงคราบของเหลวบาง ๆ เท่านั้น
ทั้งนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายว่าแอ่งของเหลวที่เหลือทิ้งไว้นั้น อาจมีไอออนฟลูออไรด์ที่เป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งมีชีวิตหากเข้าสู่ระบบนิเวศหรือสัมผัสกับสิ่งมีชีวิต ดังนั้นนักวิจัยจึงเพิ่มสารประกอบแคลเซียมคลอไรด์เพื่อช่วยทำให้ไอออนเป็นกลาง ซึ่งเนื่องจากปัญหาเรื่องนี้ในการวิจัยครั้งหน้า จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากคราบเหนียวของหุ่นยนต์ต่อไป
ที่มาข้อมูล Sciencealert , Science