รีเซต

โควิด-19 ทำร้ายสมองและระบบประสาท ได้อย่างไร

โควิด-19 ทำร้ายสมองและระบบประสาท ได้อย่างไร
ข่าวสด
2 กรกฎาคม 2563 ( 11:05 )
200
โควิด-19 ทำร้ายสมองและระบบประสาท ได้อย่างไร

 

โควิด-19 ทำร้ายสมองและระบบประสาท ได้อย่างไร

หากคุณคิดว่าโควิด-19 เป็นเพียงโรคระบบทางเดินหายใจคุณอาจต้องคิดใหม่ เพราะไวรัสร้ายตัวนี้คือสาเหตุของความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อาการเพ้อคลั่ง วิตกกังวล สับสน ร่างกายอ่อนเพลีย

ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีความชัดเจนขึ้นว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติของระบบประสาทได้

เฟอร์กัส วอลช์ ผู้สื่อข่าวสายการแพทย์ของบีบีซีระบุว่า เขาได้รับการติดต่อจากผู้ป่วยโควิด-19 หลายคนที่มีอาการป่วยไม่ค่อยรุนแรง แต่พวกเขายังคงได้รับผลกระทบทางด้านสมองและระบบประสาทอยู่ เช่น ปัญหาด้านความจำและสมาธิ ตลอดจนอาการเหนื่อยล้า

BBC
นพ.อาร์วินด์ จันทราเทวา ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายทางสมองของผู้ป่วยโควิด-19

การพูดคุยกับ พอล มิลเร วัย 64 ปี ทำให้ได้ทราบเรื่องที่น่าตกใจว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้เขาเกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมองรุนแรงถึง 2 ครั้ง

ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ผู้นี้ยังสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่ว แม้ว่ายังคงมีอาการอ่อนแรงที่ร่างกายซีกขวาอยู่บ้างก็ตาม

เขาเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ฟื้นตัวได้อย่างน่าทึ่งที่สุดที่คณะแพทย์ของโรงพยาบาลประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์แห่งชาติ (National Hospital for Neurology and Neurosurgery - NHNN) ในกรุงลอนดอนเคยพบมา

BBC
แม้อาการจะดีขึ้น แต่พอลยังคงมีอาการอ่อนแรงที่ร่างกายซีกขวาอยู่บ้าง

พอลมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองอุดตันครั้งแรกขณะพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) ที่โรงพยาบาลยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ นอกจากนี้ยังพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดและขาของเขาด้วย แพทย์จึงให้ยาเจือจางเลือดแก่เขา

สองสามวันหลังจากนั้น พอลก็มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองครั้งที่สองซึ่งมีความรุนแรงกว่าเดิม ส่งผลให้เขาต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่ NHNN

นพ.อาร์วินด์ จันทราเทวา ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา เล่าว่า "พอลไม่สามารถแสดงความรู้สึกใด ๆ ผ่านทางสีหน้าได้ เขามองเห็นเพียงข้างเดียว และลืมวิธีการใช้โทรศัพท์ และจำรหัสผ่านโทรศัพท์ของเขาไม่ได้"

"ผมคิดในทันทีว่ายาเจือจางเลือดทำให้เกิดเลือดออกในสมองของเขา แต่สิ่งที่เราได้เห็นมีความแปลกและแตกต่างมาก"

อาการของโรคหลอดเลือดสมองครั้งที่สองของพอลมาจากลิ่มเลือดที่เข้าไปอุดกั้นสมองส่วนที่ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย

ผลการตรวจพบว่า พอลมีค่า D-dimer ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงปริมาณลิ่มเลือดในระดับสูงจนน่าตกใจ

คนปกติจะมีค่านี้ไม่ถึง 300 ขณะที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอาจมีค่า D-dimer พุ่งถึง 1,000 แต่ระดับของพอลอยู่ที่กว่า 80,000

นพ.จันทราเทวากล่าวว่า "ผมไม่เคยเห็นค่าลิ่มเลือดในระดับเท่านี้มาก่อน บางอย่างในร่างกายของเขาตอบสนองต่อการติดเชื้อ และทำให้เลือดของเขาข้นขึ้นอย่างมาก"

ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในอังกฤษ จำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองลดลง แต่ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาที่ NHNN ต้องให้การรักษาคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองรุนแรงถึง 6 คน และอาการที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตามปกติ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน และผู้ป่วยแต่ละรายต่างมีลิ่มเลือดในระดับสูง

ปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมองคือการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีปฏิกิริยารุนแรงจากการอักเสบในร่างกายและสมอง

ผลจากการตรวจสมองของพอลทำให้ นพ.จันทราเทวา เห็นถึงความเสียหายเป็นบริเวณกว้างในสมองส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็น ความจำ การทํางานประสานกันของระบบประสาท และการพูด

โรคหลอดเลือดสมองที่พอลเป็นมีความรุนแรงมากจนทีมแพทย์คิดว่าเขาอาจไม่รอด หรือต้องกลายเป็นผู้พิการ

"หลังจากอาการครั้งที่สอง ภรรยาและลูกสาวของผมคิดว่าพวกเขาจะไม่ได้เห็นหน้าผมอีก" พอลกล่าว "ทีมแพทย์บอกพวกเขาว่าทำอะไรไม่ได้มากนอกจากต้องรอ แต่ผมก็รอดมาได้และแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ"

BBC
ปัจจุบันพอลรับการบำบัดทางไกล

หนึ่งในสัญญาณดีแรกที่แสดงออกมาคือความสามารถด้านภาษาของพอล เขาพูดได้ 6 ภาษา และมักพูดสลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษ-โปรตุเกส เวลาที่คุยกับพยาบาลคนหนึ่ง

พอลบอกว่าเขายังไม่สามารถอ่านหนังสือได้เร็วเหมือนแต่ก่อน และบางครั้งก็มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ ไปบ้าง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกจากการที่สมองหลายส่วนของเขาได้รับความเสียหายจากอาการป่วยที่เกิดขึ้น

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Psychiatry พบการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองในผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักจำนวน 125 คนที่รักษาในโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักร เกือบครึ่งมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่มาจากลิ่มเลือด ขณะที่อีกส่วนมีอาการสมองอักเสบ มีอาการคล้ายผู้ป่วยวิกลจริต หรือผู้มีภาวะสมองเสื่อม

ศาสตราจารย์ทอม โซโลมอน หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า "ปัจจุบันมีความชัดเจนแล้วว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสมอง ในขณะที่ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่ามันส่งผลต่อปอดเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่สมองขาดออกซิเจน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมาจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับลิ่มเลือด และการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการอักเสบอย่างรุนแรง และเราควรตั้งคำถามว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ทำให้สมองติดเชื้อด้วยหรือไม่"

BBC
โควิด-19 ทำให้พอลต้องเลิกดำน้ำ ซึ่งเป็นกีฬาที่เขารักมาก

ในแคนาดา ศาสตราจารย์เอเดรียน โอเวน นักประสาทวิทยาศาสตร์ เริ่มการศึกษาระดับโลกเพื่อหาว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองอย่างไรบ้าง

"เราทราบกันอยู่แล้วว่าผู้ป่วยโควิด-19 อาการวิกฤตที่รอดชีวิตมาได้มักมีความเสี่ยงจะเผชิญกับภาวะถดถอยทางสมอง ดังนั้น การที่มีคนไข้โควิด-19 หายป่วยจนออกจากห้องไอซียูแล้วกลับบ้านได้มากขึ้น ไม่ได้แปลว่าการรักษาได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่มันหมายถึงจุดเริ่มต้นของกระบวนการฟื้นฟูสุขภาพให้พวกเขา"

นพ.ไมเคิล ซานดี ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจาก NHNN ระบุว่า "โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) ต่างเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา แต่เราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน"

"การเปรียบเทียบใกล้เคียงที่สุดคือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 ซึ่งเราได้เห็นผู้ป่วยด้วยโรคและปัญหาทางสมองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วง 10-20 ปีจากนั้น"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง