รีเซต

"แอฟริกาใต้" เคยโดนแบนจากโอลิมปิกเพราะนโยบาย "ถือผิว" กว่า 24 ปี | Chronicles

"แอฟริกาใต้" เคยโดนแบนจากโอลิมปิกเพราะนโยบาย "ถือผิว" กว่า 24 ปี | Chronicles
TNN ช่อง16
19 กรกฎาคม 2567 ( 15:42 )
29

โอลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ โดยถือคติว่าไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น สีผิว ชาติกำเนิด หรือว่าศาสนา ทำให้บ่อยครั้ง เราจะเห็นการให้โอกาสบรรดาประเทศที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันอยู่เนือง ๆ อาทิ World Aquatics หรือ FINA ให้สิทธินักกีฬาว่ายน้ำสัญชาติกัมพูชา ที่ปกติไม่สามารถผ่านการคัดเลือกได้ ให้เข้าแข่งขันในโอลิมปิกปี 2024 


กระนั้น ตามประวัติศาสตร์ของโอลิมปิก ได้มี “การแบน” ห้ามประเทศใดประเทศหนึ่งเข้าร่วมการแข่งขันอยู่ไม่น้อย และหนึ่งในประเทศที่โอลิมปิกแบน “ยาวนานที่สุด” นั่นคือ “แอฟริกาใต้” เนื่องมาจากนโยบายภายในประเทศเรื่อง “การถือผิว (Apartheid)” กินระยะเวลาทั้งหมดกว่า 24 ปี (1964-1988)


เรื่องนี้เริ่มจากแอฟริกาใต้ภายใต้รัฐบาล ดาเนียล ฟาลาน ได้ออกฏหมายถือผิว หรือการแบ่งแยกทางสีผิว ใน Population Registration Act ปี 1950 โดยระบุว่า บรรดาคนดำและลูกครึ่งคนดำ-ขาว ไม่มีสิทธิและเสรีภาพเท่ากับคนขาว บางพื้นที่คนดำห้ามเข้า หรือการถือครองที่ดินสงวนให้คนขาวเท่านั้น หากฝ่าฝืนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


คณะกรรมการโอลิมปิกสากลตั้งใจที่จะแบนตั้งแต่กฏหมายนี้บังคับใช้ แต่องค์กรนี้ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน (Domestic Affairs) ของประเทศสมาชิก ยุ่งเกี่ยวแต่เพียงเรื่องกีฬาเท่านั้น และกีฬาในแอฟริกาใต้มีแต่คนดำลงแข่งขัน จึงทำได้เพียงประนาม 


แต่แล้ว ในปี 1957 สมาคมโอลิมปิกและเครือจักรภพแห่งแอฟริกาใต้ หรือ SAOCGA ได้ประกาศแบนคนดำและลูกครึ่งคนดำ-ขาว เข้าเป็นบอร์ดบริหารและนักกีฬา ตรงนี้ ถือว่าผิดหลักการของโอลิมปิกที่แยกการเมืองออกจากกีฬาชัดเจน ดังนั้น ในโอลิมปิก 1964 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แอฟริกาใต้จึงโดนแบนไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขัน


จนกระทั่งปลายยุค 1980s คณะกรรมการโอลิมปิกสากล เล็งเห็นถึงความพยายามในการยกเลิกการถือผิวในแอฟริกาใต้ แม้จะยังไม่สามารถยกเลิกได้แบบทันที แต่ได้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาล สภาสูง และสภาล่าง ในทิศทางที่ดีขึ้น ในโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ แอฟริกาใต้จึงได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันได้อีกครั้ง


ก่อนที่การถือผิวในแอฟริกาใต้จะยกเลิกอย่างถาวรในปี 1994 นับเป็นการสิ้นสุดกฏหมายแบ่งแยกเผ่าพันธุ์สิ่งสุดท้ายของโลกสมัยใหม่


Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง