รีเซต

‘ดิทโต้’ พลิกวิกฤตโควิด โชว์ศักยภาพผู้นำทรานฟอร์มธุรกิจ จ่อขายหุ้นไอพีโอ 7.50 บาทต่อหุ้น

‘ดิทโต้’ พลิกวิกฤตโควิด โชว์ศักยภาพผู้นำทรานฟอร์มธุรกิจ จ่อขายหุ้นไอพีโอ 7.50 บาทต่อหุ้น
มติชน
23 เมษายน 2564 ( 00:39 )
106
‘ดิทโต้’ พลิกวิกฤตโควิด โชว์ศักยภาพผู้นำทรานฟอร์มธุรกิจ จ่อขายหุ้นไอพีโอ 7.50 บาทต่อหุ้น

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ผู้ให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสารและข้อมูลแบบครบวงจร (Document & Data Management Solutions) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้วางแผนในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ราคาหุ้นละ 7.50 บาท จำนวน 80 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 18.18% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งเตรียมเปิดให้จองซื้อวันที่ 23, 26 – 27 เมษายนนี้ ก่อนเข้าซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ขยายเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ลงทุนพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสารเพื่อให้บริการบนระบบคลาวด์และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยในปี 2563 ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน (ทรานฟอร์ม) มากขึ้น ด้วยรูปแบบธุรกิจหลักของบริษัทฯ คือ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กเดต้า) ให้กับทั้งองค์กรและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่เป็นกระดาษ เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลออนไลน์ และนำไปใช้ในธุรกิจได้ง่ายขึ้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทรานฟอร์มต่อไป รวมทั้งทั้งวางแผนในการต่อยอดธุรกิจเพิ่ม อาทิ การพัฒนาระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้

 

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสาร 2.ธุรกิจให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ และ 3.ธุรกิจที่อยู่ภายใต้บริษัทย่อยของดิทโต้ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโครงการวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กรมชลประทาน กระทรวงทรัพยากรน้ำ ท้องฟ้าจำลองและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

 

 

“บริษัทฯ เป็นผู้ออกแบบและพัฒนาการจัดการเอกสารและข้อมูล เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันระบบการจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ จะเป็นรูปแบบเอกสารกระดาษ ทำให้ในแต่ละองค์กรจะมีปริมาณการจัดเก็บเป็นจำนวนมหาศาล เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและมักมีปัญหาในการค้นหาและนำไปใช้ บริษัทฯ จึงออกแบบระบบการจัดเก็บเอกสารและข้อมูล ตั้งแต่การนำเข้าเอกสารหรือข้อมูลไปจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ประหยัดทรัพยากร และมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสูงสุด” นายฐกรกล่าว

 

 

นายฐกรกล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนลงทุนขยายเครือข่ายจัดตั้งศูนย์กระจายการให้บริการอีก 9 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อกระจายทีมงานและเพิ่มศักยภาพการให้บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งวางแผนลงทุนพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสาร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมด้วย ในส่วนผลการดำเนินงานปี 2561 – 2563 ถือว่าเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 422.3 ล้านบาท 773.0 ล้านบาท 986.3 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 52.8% และมีกำไรสุทธิ 13.4 ล้านบาท 56.3 ล้านบาท และ 114.2 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปี 192.3% เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสาร และธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง