บอร์ดไทยออยล์ ไฟเขียวแผนปรับโครงสร้างเพิ่มทุน-ปรับสัดส่วน GPSC
TNN Wealth
18 กุมภาพันธ์ 2565 ( 15:30 )
97
นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 2,751,200,000 บาท จากทุนจดทะเบียนปัจจุบันจำนวน 20,400,278,730 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 23,151,478,730 บาท
โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 275,120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 10 บาท ซึ่งการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว จะแบ่งเป็นส่วนที่ 1 การเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering) จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น ซึ่งรวมการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯ สงวนสิทธิไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้หรืออาจเป็นผลให้บริษัทฯ มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ ส่วนที่ 2 บริษัทฯ อาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายในคราวนี้
โดยจะดำเนินการไปพร้อมกันกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering) ผู้ลงทุนสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมซึ่งจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังเห็นชอบการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ("GPSC") ให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ("ปตท.") และ/หรือ บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด ("SMH") ซึ่งมีปตท. ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 100 จำนวนทั้งสิ้น 304,098,630 หุ้น
คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.78 ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GPSC เป็นราคารวมทั้งสิ้นประมาณ 22,351 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาก่อนหักเงินปันผลของ GPSC หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และก่อนวันโอนหุ้น (หากมี) และให้นำทั้ง 2 รายการเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสายโอเลฟินโดยได้เข้าร่วมลงทุนใน CAP ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ไทยออยล์สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินได้อย่างรวดเร็วและทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
สร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงมาก นอกจากนี้การลงทุนนี้ยังเป็นการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยออยล์ กับ CAP โดยไทยออยล์ได้เข้าทำสัญญาเพื่อส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ CAP นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resins) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย