รีเซต

'ฐากร' แจงปมดาวเทียมไทยคม ย้ำอยู่เหนืออำนาจ 'กสทช.'

'ฐากร' แจงปมดาวเทียมไทยคม ย้ำอยู่เหนืออำนาจ 'กสทช.'
มติชน
26 สิงหาคม 2564 ( 07:47 )
104
'ฐากร' แจงปมดาวเทียมไทยคม ย้ำอยู่เหนืออำนาจ 'กสทช.'

วันที่ 26 ส.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทวิตข้อความระบุว่า ตามที่มีข่าวว่ามีคนร้องเรียนตนเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. กับ ปปช. เกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมไทยคม นั้น

 

 

ตนขอเรียนว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสำนักงาน กสทช. หรือเลขาธิการ กสทช. ที่จะดำเนินการแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ตมได้ตรวจสอบในรายละเอียดเบื้องต้น เพื่อจะนำมาชี้แจงให้กับประชาชนเข้าใจ ดังนี้

 

 

1.การที่ดาวเทียมจะทำงานได้ จะต้องมีอนุญาต 2 ส่วนเพื่อใช้งาน


1.สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม


2.ใบอนุญาตประกอบกิจการ เพื่อตั้งสถานีภาคพื้นดิน


อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตามข้อ 1 ในขณะนั้นตามกฎหมายเป็นของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลจัดสรรแล้วจะส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาออกใบอนุญาตตามข้อ 2 ซึ่งในขณะนั้นเป็นอำนาจของ กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ตามกฎหมายที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ แล้วจึงส่งเรื่องให้ กสทช. เพื่อรับทราบมติ

 

 

2.ซึ่งในเรื่องนี้ กทค. ได้มีการพิจาณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ตามที่รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการ

 

 

3.ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ใหม่ ได้กำหนดให้อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่เคยเป็นของรัฐบาล มาเป็นอำนาจของ กสทช. ซึ่งก็ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะ กสทช. ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ

 

 

ดังนั้น หลังจากปี 2560 กสทช. จึงมีหน้าที่ในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และตามข้อมูล ดาวเทียมไทยคม 5 กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในเดือน ก.ย. 2564 เมื่อกฎหมายให้ กสทช. มีอำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมซึ่งเป็นสมบัติของชาติ กสทช. จึงได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อจะได้มีการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในระบบใบอนุญาตโดยจะใช้วิธีการประมูล ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่มีความโปร่งใส ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม สามารถตรวจได้ และเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วโลก และ กสทช. ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนเปิดให้ยื่นเข้าประมูล แต่มีผู้ยื่นเข้าประมูลเพียงรายเดียว จึงได้ยกเลิกการประมูลไป เพื่อความโปร่งใส และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

 

 

 

อนึ่ง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรสิทธิในเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็น่าจะมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง