รีเซต

‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ
TNN ช่อง16
27 มกราคม 2567 ( 22:18 )
64
‘57 ปี ภารกิจอะพอลโล 1’ ประตูแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โศกนาฏกรรมแห่งเปลวเพลิงที่ต้องจดจำ

แต่กว่าที่โลกของเราจะเดินทางไปสู่ดวงจันทร์เบื้องหลังความสำเร็จของมนุษยชาติ ต้องแลกมาด้วยโศกนาฏกรรมแห่วเปลวเพลิง ที่หลายคนมองว่า หากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ บางทีสหรัฐฯ อาจไม่ใช่ชาติแรกที่เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ กับ 57 ปี โศกนาฏกรรม ‘อะพอลโล 1’ ประตูบานแรกสู่การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์


---สงครามอวกาศในยุคสงครามเย็น---


ในช่วงที่โลกกำลังอยู่ในยุคของสงครามเย็น หนึ่งในภารกิจที่ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตต่างกำลังแข่งขัน นั่นคือ “ภารกิจด้านอวกาศ” ที่ทั้ง 2 พยายามช่วงชิงการเป็นชาติมหาอำนาจด้านนี้ให้ได้กันอย่างดุเดือด


สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ต่างแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ นับตั้งแต่ที่สหภาพโซเวียตได้ปล่อยดาวเทียมสปุตนิก-1 เมื่อปี 1957 ทำให้กลายเป็นดาวเทียมดวงแรกที่โคจรรอบโลก


เมื่อจอห์น เอฟ. เคเนดี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 1961 ซึ่งเป็นปีเดียวกัน สหภาพโซเวียดก็ประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นชาติแรกของโลก ทำให้ชาวอเมริกันในขณะนั้น ต่างเชื่อว่าพวกเขากำลังพ่ายแพ้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้แก่สหภาพโซเวียต ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงต้องการจะเป็นชาติแรกของโลก ที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์


ในปี 1962 ประธานาธิบดีเคเนดีจึงได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชนชาวอเมริกันว่า “เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์” โดยเป้าหมายคือการส่งมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยก่อนปี 1970


---Mission to the Moon---


นาซาได้ทุ่มทรัพยากรจำนวนมากมายมหาศาล ไปกับโครงการอวกาศ ‘อะพอลโล’ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 มีคนเข้าร่วมทำงานให้กับโครงการนี้ราว 400,000 คน และใช้งบประมาณสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 772,500 ล้านบาท ตามมูลค่าเงินตราในสมัยนั้น


อะพอลโล 1 จึงเป็นภารกิจแรกในโครงการอะพอลโล ซึ่งเป็นโครงการที่สหรัฐฯ หมายมั่นปั้นมือส่งนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ให้ได้เป็นชาติแรก โดยนักบินอวกาศในภารกิจ ‘อะพอลโล 1’ ได้แก่


กัส กริสซัม วิศวกร และนักบินแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ เขาเคยทำภารกิจนอกโลกให้กับทั้งโครงการเมอร์คิวรี และเจมิไนมาแล้ว ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการในภารกิจนี้


ต่อมา คือ เอ็ดเวิร์ด ไวต์ วิศวกรการบินชาวอเมริกัน และเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ เขาเป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินบนอวกาศ ในระหว่างทำภารกิจเจมีไน 4 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีชุดอวกาศและทักษะการเดินบนอวกาศเพื่อภารกิจต่อ ๆ ไป


คนสุดท้ายคือ โรเจอร์ ชัฟฟี นายทหารเรือ นักบิน และวิศวกรการบินชาวอเมริกัน ซึ่งยังไม่ได้เคยปฏิบัติภารกิจนอกโลก โดยปี 1963 เขาถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 3 นักบินอวกาศในภารกิจ ‘อะพอลโล 1’



ภาพถ่าย Portait ของลูกเรือภารกิจ 'อะพอลโล 1' (เรียงจากซ้ายไปขวา): เอ็ดเวิร์ด ไวต์, กัส กริสซัม และโรเจอร์ ชัฟฟี - ที่มาภาพ: NASA 


---ปัญหาและข้อกังวลที่เกิดขึ้น---


ภารกิจ ‘อะพอลโล 1’ เดิมทีมีชื่อว่า AS-204 มีแผนที่จะปล่อยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1967 ระยะเวลาปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 14 วัน เพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพ, ระบบการปล่อยตัว ระบบการควบคุม และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในส่วนยานบังคับการและยานบริการ หรือ CMS รวมถึงทดสอบจรวดแซตเทิร์น 1B ในสภาวะแวดล้อมจริง แต่สุดท้ายแล้ว ภารกิจนี้ก็ไม่เคยได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ และจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้า 


ตัวยานบังคับการและยานบริการอะพอลโลมีขนาดที่ใหญ่ และซับซ้อนมากกว่ายานอวกาศลำอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ของนาซา โจเซฟ เอฟ เชีย ผู้จัดการสำนักงานโครงการยานอวกาศอะพอลโล มีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการจัดการออกแบบและสร้างส่วน CMS และส่วนลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ หรือ LM ผลิตโดยบริษัท North America Aviation ซึ่งชนะการประมูล เพื่อผลิตยานอวกาศในโครงการนี้มา


โจเซฟ เอฟ เชีย ผู้จัดการสำนักงานโครงการยานอวกาศอะพอลโล - ที่มาภาพ: NASA


วันที่ 19 สิงหาคม 1966 ระหว่างการประชุมเพื่อตรวจสอบตัวยานอวกาศ กลุ่มลูกเรือได้แสดงความกังวลถึงวัสดุไวไฟที่ติดตั้งภายในห้องโดยสารจำนวนมาก ส่วนใหญ่ประกอบด้วยไนลอน และเวลโครเทป


แต่อย่างไรก็ตาม เชียก็ได้ให้ยานลำดังกล่าว ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งหลังจากจบประชุมในครั้งนั้น ลูกเรือทั้ง 3 คน ได้ส่งภาพถ่ายใบหนึ่งไปให้กับเขา เป็นภาพที่พวกเขากำลังเหมือนพนมมือ อธิษฐาน ต่อหน้าโมเดลจำลองของยาน และเขียนข้อความไว้ที่รูปว่า


“ไม่ใช่ว่าเราไม่เชื่อใจคุณนะโจ แต่ครั้งนี้ เราขอตัดสินใจที่จะพึ่งพาบางสิ่งที่เหนือกว่าคุณ”

  

ภาพลูกเรืออะพอลโล 1 กำลังยกมืออธิษฐานต่อหน้าโมเดลยานจำลอง - ที่มาภาพ: NASA Handout via Wikipedia


ด้วยเดดไลน์ที่ เคเนดีได้เคยกำหนดไว้ผ่านสุนทรพจน์ของเขาว่า จะส่งมนุษย์ขึ้นไปดวงจันทร์ให้ได้ก่อนปี 1970 ทำให้ภารกิจอะพอลโล 1 ยังคงดำเนินต่อไป แม้จะพบปัญหาต่าง ๆ มากมาย


---วันเกิดเหตุ---


25 วันก่อนถึงวันปล่อยตามกำหนดการที่ตั้งไว้ ในวันที่ 27 มกราคม 1967 ลูกเรือทั้ง 3 คน ได้เข้าทำการทดสอบเสมือนจริงตามปกติ โดยการทดสอบในครั้งนี้ คือการทำ Plugs-Out Test ซึ่งเป็นการทดสอบระบบพลังงานของตัวยาน หลังถูกตัดการเชื่อมต่อจากระบบไฟฟ้าของแท่นปล่อยจรวด


นาซา ระบุว่า เป็นการทดสอบที่ไม่มีความอันตราย เนื่องจากไม่มีการเติมเชื้อเพลิงเข้าไปในตัวจรวด และเพื่อให้การซ้อมมีความสมจริงมากที่สุด ทีมเจ้าหน้าที่จึงได้มีการปิดผนึกประตูยาน หลังจากลูกเรือทั้งหมดได้นั่งประจำที่ของตนเอง และภายในก็อัดแน่นไปด้วยก๊าซออกซิเจนบริสุทธิ์


ภาพลูกเรือ 'อะพอลโล 1' ในวันเกิดเหตุ กำลังเดินลงจากรถ เพื่อทำการทดสอบ Plugs-Out Test - ที่มาภาพ: NASA


แต่เมื่อเริ่มทำการทดสอบ ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้นในทันที เมื่อกริสซัมพูดว่า เขาได้กลิ่นแปลก ๆ มาจากชุดอวกาศของเขา เหมือนกลิ่นเหม็นบูด ส่งผลให้ต้องหยุดการทดสอบ เพื่อเก็บตัวอย่างจากชุดของเขา และหลังจากที่ได้หารือกัน กริสซัมก็ตัดสินใจที่จะทำการทดสอบต่อไป


หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้ง เมื่อเครื่องบ่งชี้อัตราการไหลออกซิเจนสูง เกิดสัญญาณเตือนดังขึ้นเป็นระยะ ๆ ณ ตอนนั้น ลูกเรือได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่ควบคุม แต่พวกเขาเชื่อว่า การไหลเวียนที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของตัวลูกเรือเอง ทำให้ปัญหานี้ ไม่ได้รับการแก้ไข


และปัญหาที่หนักสุดในระหว่างการทดสอบครั้งนี้คือ การสื่อสาร เนื่องจากลูกเรือและศูนย์ควบคุมต้องประสบปัญหาการสื่อสารอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้กริสซัมถึงกับพูดออกมาว่า


“เราจะไปดวงจันทร์ได้อย่างไร ถ้าหากเราไม่สามารถคุยกันได้ในระยะแค่ 2-3 ช่วงตึก”


หลังจากนั้น ไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่ได้สังเกตเห็นประกายไฟภายในตัวเครื่อง ผ่านจอมอนิเตอร์ พร้อมกับได้ยินเสียงของหนึ่งในลูกเรือตะโกนออกมาว่า มีไฟไหม้เกิดขึ้นในห้องนักบิน และเราต้องรีบออกไปจากที่นี่ แต่ด้วยภายในยานเต็มไปด้วยวัสดุไวไฟมากมาย แถมยังอัดแน่นไปด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ ทำให้ห้องโดยสารภายในเกิดไฟลุกไหม้ และปกคลุมไปทั่วตัวยานภายในเวลาแค่ 30 วินาที


เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลามากถึง 5 นาที ในการที่จะเปิดประตูตัวยานเพื่อเข้าไปช่วยเหล่านักบินที่อยู่ข้างใน แต่สุดท้ายพวกเขาก็พบว่า มันสายเกินไป ลูกเรือทั้ง 3 คนในภารกิจอะพอลโล 1 เสียชีวิตทั้งหมด


---เรียนรู้ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่---


หลังเกิดเหตุไฟไหม้ดังกล่าว ทางนาซาได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง และแม้ว่าคณะกรรมการจะไม่สามารถสรุปได้ว่า อะไรเป็นต้นตอหลักที่ทำให้เกิดไฟไหม้ แต่พวกเขาก็ได้ระบุถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมไว้ ดังนี้


1. ในห้องโดยสาร อัดแน่นเต็มไปด้วยก๊าซออกซิเจน

2. มีวัสดุไวไฟจำนวนมากที่ติดอยู่ในห้องโดยสาร

3. มีช่องโหว่บริเวณสายไฟ ที่เป็นตัวลำเลียงพลังงานของยานอวกาศ

4. มีช่องโหว่ในบริเวณท่อประปา ซึ่งมีสารหล่อเย็นที่ติดไฟได้และมีฤทธิ์กัดกร่อน

5. มีการเตรียมการที่ไม่รัดกุมพอ สำหรับกรณที่ลูกเรือต้องทำการหลบหนีออกจากตัวยาน

6. มีการเตรียมการที่ไม่เพียงพอ สำหรับการกู้ภัย หรือ ความช่วยเหลือทางการแพทย์ 


สภาพภายในของตัวยานในภารกิจ 'อะพอลโล 1' หลังเกิดเหตุ - ที่มาภาพ: NASA


นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องประตูตรงตัวยานมีความยุ่งยากในการเปิด เนื่องจากมีทั้งหมดถึง 3 ชั้นด้วยกัน ทำให้นักบินที่อยู่ภายในต้องใช้เวลา 90 วินาทีในการเปิดประตู ถึงจะสามารถออกมาข้างนอกได้ นับเวลาที่ยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับเวลาที่ไฟได้ลุกท่วมตัวยานเพียงแค่ 30 วินาที หลังจากเหตุครั้งนี้ จึงได้มีการออกแบบประตูใหม่ โดยคำนึงถึงความเรียบง่าย และปลอดภัย รวมถึงทำให้สามารถเปิดจากด้านนอกได้


โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการอะพอลโลต้องหยุดชะงักไปนานกว่า 20 เดือน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้นาซาหันมาทบทวนการทำงาน และเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นในภารกิจอื่น ๆ เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีก นับได้ว่า โศกนาฏกรรมอะพอลโล 1 คือการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้สหรัฐฯ และนาซาได้รับบทเรียนจากเรื่องนี้ และพัฒนาปรับปรุงให้เดินทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้


ท้ายที่สุด สหรัฐฯ ก็ได้กลายเป็นชาติแรกของโลกในการส่งมนุษย์ขึ้นสู่ดวงจันทร์ และกลับลงมาสู่โลกอย่างปลอดภัยในปี 1969 ภายใต้ภารกิจ อะพอลโล 11 ตามคำมั่นที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ ได้เคยกล่าวไว้

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: NASA Handout via Getty Images


ข้อมูลอ้างอิง:

NASA (1), NASA (2), NASA (3), Wikipedia, Air and Space, Astronomy, Seeker (YouTube), Space, Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง