รีเซต

พีระพันธุ์ ชี้ รธน. ต้องเขียนคำนึงวัฒนธรรมประเพณี คุ้มครองสิทธิปชช. อย่าตั้งโจทย์แค่มุมการเมือง

พีระพันธุ์ ชี้ รธน. ต้องเขียนคำนึงวัฒนธรรมประเพณี คุ้มครองสิทธิปชช. อย่าตั้งโจทย์แค่มุมการเมือง
มติชน
6 พฤศจิกายน 2563 ( 14:26 )
67

เมื่อเวลา 10.45 น.วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บรรยายวิชาการเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ” ตอนหนึ่งว่า ตนมารู้จักรัฐธรรมนูญแบบจริงจังตอนที่เรียนกฎหมาย เพราะคนที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญจะวนอยู่ในแวดวงการเมือง ตรงนี้คือจุดสำคัญและรู้สึกว่าแตกต่างกับหลายประเทศที่รัฐธรรมนูญคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตมนุษย์ แต่คนไทยบางส่วนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของประชาชน แต่เป็นเรื่องของการเมือง ความสำคัญและศักดิ์ศรีของความเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่รู้สึกด้วยว่ามันคือสิ่งสำคัญ ซึ่งรัฐธรรมนูญจะมีความสำคัญจริงหรือไม่ อยู่ที่ความรู้สึกของคน ที่ต้องรู้สึกว่าสิ่งนี้คือสิ่งสำคัญในชีวิตไม่ใช่เพราะเราเขียนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ต้องทำให้คนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สูงสุด ดังนั้น จะทำอย่างไร ถ้าเราอยากให้คนไทยให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญและรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญคุ้มครองชีวิตเขาได้

 

อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญเราจะลอกกันไม่ได้ ไม่ใช่เห็นรัฐธรรมนูญสหรัฐดีแล้วเอาของเขามา บางคนไปเรียนฝรั่งเศสชอบแบบนั้นก็เอาของเขามา หรือเอาเรื่องเลือกตั้งของเยอรมันมา ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องที่สามารถลอกกันได้ เพราะรัฐธรรมนูญ คือวิวัฒนาการระบบวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน ความคิดความรู้สึกบางเรื่องแตกต่างกัน ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมประเพณีด้วย ต้องไม่ลืมสิ่งเหล่านี้ในรัฐธรรมนูญ

 

“รัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิที่จะทำลายชาติบ้านเมือง คุณไม่มีสิทธิที่จะเขียนรัฐธรรมนูญทำลายความเป็นมาของประเทศ ทำลายวัฒนธรรมประเพณี หรือความเป็นชาติได้ เพราะความเป็นชาติ ความเป็นประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพ เป็นคนละเรื่องกัน รัฐธรรมนูญนอกจากจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศแล้ว จะต้องคงความเป็นชาติต่อไปให้ลูกหลานอีกด้วย ความเป็นชาติที่เป็นชาติของเรา ไม่ใช่ชาติที่พัฒนากลายเป็นสหรัฐหรืออังกฤษ แต่สุดท้ายความเป็นไทยหาย การเขียนรัฐธรรมนูญนอกจากจะคิดเรื่องประชาธิปไตยจะต้องคิดถึงความเป็นชาติของเราด้วย ผมคิดว่าสำหรับประเทศไทย ชาติไทย ความเป็นชาติของเราคือสถาบันพระมหากษัตริย์”นายพีระพันธุ์ กล่าว

 

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การที่มีคำพูดว่า ประเทศจะเจริญหรือไม่เจริญอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะเป็นความเข้าใจของคนที่โยงกันแบบผิดๆ หรือบางคนบอกว่าประเทศเจริญได้ต้องไม่เขียนรัฐธรรมนูญจากคนที่ปฏิวัติมาเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ญี่ปุ่นคนที่ยึดประเทศซึ่งเป็นคนต่างชาติเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ คนญี่ปุ่นไม่มีส่วนร่วม แต่ทำไมญี่ปุ่นถึงเจริญ ดังนั้น การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญต้องมีเหตุผล ไม่ใช่อยู่ที่ใครเขียนแต่อยู่ที่ว่าสิ่งที่เขียนมาดีหรือไม่ ส่วนที่เรียกร้องให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่แต่หากไปลอกคล้ายๆของเก่า ก็เหมือนเดิม เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเขียนโดยคณะปฏิวัติหรือเขียนโดย ส.ส.ร. เนื้อหา โครงสร้าง ถ้อยคำ ก็เหมือนลอกกันมาตั้งแต่ปี 2475

 

“การเขียนรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่ใช่เขียนแค่มุมการเมือง แต่จะต้องเขียนเป็นคู่มือของประชาชน ที่สามารถดำรงชีวิตได้ ทำมาหากินได้ ได้รับความคุ้มครองจากภาครัฐไม่ให้ถูกกระทำโดยมิชอบ ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญในอนาคต จะต้องไม่ใช่แบบพัฒนาจาก 2475 หมดยุคแล้ว ซึ่งไม่ใช่ความเผด็จการ หรือเพื่อการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องเป็นกฎหมายสุงสุดของคนไทย เพื่อให้แก้ปัญหาชีวิตในทุก ๆ อย่างได้อย่างแท้จริง”นายพีระพันธุ์กล่าว

 

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะพูดกันในสภาคือการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. ซึ่งตนคิดว่าการที่จะมี ส.ส.ร.ขึ้นมาใหม่ อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่มีส่วนร่วมโดยเสนอแค่เรื่องการเมือง แต่ควรให้ประชาชนนำเสนอปัญหาของเขาที่ต้องการให้ภาครัฐประเทศดูแล แต่หากพูดแค่การเมืองอาจไม่เข้าใจและหาข้อยุติแท้จริงไม่ได้ ดังนั้นจึงควรรวบรวมปัญหาของประชาชนแล้วตกผลึก เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อตอบสนองและแก้ปัญหาของสังคม ก็จะทำให้สังคมเดินหน้าต่อได้ ความเหลื่อมล้ำลดลง ซึ่งคิดว่าสิ่งเหล่านี้เราวางหลักในรัฐธรรมนูญได้ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญตอบสนองปัญหาของชาติอย่างแท้จริง ส่วนการจะแก้ปัญหาการเมืองในขณะนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องยากเพราะอยู่ที่ใจ หากใจไม่มีเหตุมีผล ใจมีเป้าหมาย ทำอย่างไรก็ไม่จบ ดังนั้น อยู่ที่คนที่เข้ามามีส่วนร่วมว่ามีเป้าหมายเพื่อชาติบ้านเมืองจริงหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง