รีเซต

พบหนอนกิ่งแขนงชนิดใหม่ มีหัวเดียวแต่หางนับร้อย

พบหนอนกิ่งแขนงชนิดใหม่ มีหัวเดียวแต่หางนับร้อย
ข่าวสด
3 กุมภาพันธ์ 2565 ( 06:10 )
89

นักชีววิทยาทางทะเลพบหนอนกิ่งแขนงสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาศัยอยู่ในรูของฟองน้ำทะเลที่พบในน่านน้ำใกล้เกาะซาะโดะ ของญี่ปุ่น แต่หนอนกิ่งแขนงชนิดนี้ต่างจากหนอนทั่วไป เพราะมันมีหางปรากฏอยู่นับร้อย และสามารถแยกออกจากลำตัว แหวกว่ายอยู่ในน้ำได้อย่างเป็นอิสระ

 

นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อหนอนกิ่งแขนงนี้ว่า Ramisyllis kingghidorahi ตามชื่อของคิงกิโดราห์ (King Ghidorah) สัตว์ประหลาดที่มีหัวหลายหัว และเป็นศัตรูตัวฉกาจของก็อดซิลลา

 

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าในบรรดาหนอนที่มีลักษณะลำตัวเป็นปล้องที่มีอยู่ราว 20,000 ชนิดนั้น หนอนกิ่งแขนงถือว่ามีรูปร่างที่ไม่ธรรมดา และหนอน Ramisyllis kingghidorahi นี้เป็นสายพันธุ์ที่ 3 ของโลกที่เคยพบ โดยสองสายพันธุ์ที่พบก่อนหน้านี้คือ Syllis ramose ที่พบในระดับน้ำลึก 175 เมตร ใกล้เกาะเชบู ของฟิลิปปินส์ ในปี 1879 และ Ramisyllis multicaudata พบบริเวณชายฝั่งเมืองดาร์วิน ออสเตรเลีย เมื่อปี 2012 ทั้งสองสายพันธุ์มีรูปร่างเป็นกิ่งแขนง มีหัวเดียว และอาศัยอยู่ในรูพรุนของฟองน้ำ

 

ศ.มาเรีย เทเรซา อกัวโด ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (Gottingen University) ในเยอรมนี ซึ่งศึกษารายละเอียดของหนอนชนิดนี้คิดว่าการที่มันมีรูปร่างเป็นกิ่งแขนงแบบนี้ช่วยให้มันมีชีวิตรอดได้ในโครงสร้างอันซับซ้อนของฟองน้ำทะเลได้ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจว่าลำตัวที่มีกิ่งแขนงเอื้อให้มันอยู่รอดได้อย่างไร

 

 

"คำถามที่สำคัญอีกคำถามหนึ่งคือว่าปากอันเล็กนิดเดียวของเจ้าหนอนนี้กินอาหารอย่างไรจึงหล่อเลี้ยงร่างกายที่ใหญ่โตของมันได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง