รีเซต

เช็กเส้นทางรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ เปิดเพิ่มอีกกี่สถานี วิ่งถึงไหน?

เช็กเส้นทางรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ เปิดเพิ่มอีกกี่สถานี วิ่งถึงไหน?
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2563 ( 16:14 )
1.2K
เช็กเส้นทางรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ เปิดเพิ่มอีกกี่สถานี วิ่งถึงไหน?

        เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะรอคอยกันอยู่กับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้   ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ จะเรียกว่าเป็นส่วนต่อขยายจากสายสีม่วงระยะแรก สายฉลองรัชธรรมก็ว่าได้ เพราะมีเป้าหมายคืออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนในแถบชานเมือง และยังเป็นอีกหนึ่งรถไฟฟ้าสายสำคัญของบ้านเรา ที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวในย่านนี้ โดยเฉพาะการเดินทางไปยังคุ้งบางกระเจ้า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์กยอดฮิต เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว เพราะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวกรุงเทพฯ และยิ่งมีโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมไปถึงแล้วก็เชื่อว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจบ้านเรา 

         ล่าสุด ความคืบหน้าของรถไฟฟ้าสายนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจเวนคืนที่ดินและประเมินวงเงินชดเชยเวนคืน โดยจะทำควบคู่ไปกับขั้นตอนการจัดทำราคากลางเพื่อเตรียมประกวดราคาจัดหาเอกชนมาลงทุนร่วม

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีทั้งหมด  17 สถานี

        โดย รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ มีระยะโครงการทั้งหมด 23.5 กิโลเมตร  เป็นโครงสร้างใต้ดิน 12.7 กิโลเมตร และเป็นยกระดับ 10 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และเป็นสถานียกระดับ 7 สถานี ซึ่งการแบ่งสถานีใต้ดินจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

        1. สถานีชานชาลากลาง (Central Platform) ซึ่งจะมีอุโมงค์ขนาบ 2 ข้าง และมีชานชาลารอรถไฟอยู่ตรงกลางเหมือนกับ สถานีหัวลำโพง สายสีน้ำเงิน   มีสถานีชานชาลากลางคือ สถานีรัฐสภา, สามยอด, สะพานพุทธฯ, วงเวียนใหญ่ และสำเหร่ 


        2. สถานีชานชาลาซ้อน (Stacked Platform) ซึ่งจะเป็นชานชาลาซ้อนกัน 2 ชั้น อุโมงค์ซ้อนกัน เหมือนกับสถานีสีลม สายสีน้ำเงิน  มีสถานีชานชาลาซ้อนคือ สถานีศรีย่าน, วชิรพยาบาล, บางขุนพรหม และผ่านฟ้า

        3. สถานีชานชาลาข้าง (Side Platform) ซึ่งจะเป็นชานชาลาข้าง ซึ่งจะมีอุโมงค์อยู่กลาง และชานชาลาขนาบข้าง เหมือนกับสถานีบางซื่อ สายสีน้ำเงิน  มีสถานีหอสมุดแห่งชาติ 


        ส่วนรูปแบบสถานียกระดับ มี 1 แบบ คือ 3 ชั้น ชานชาลาข้าง มีทางวิ่งอยู่กลางมีชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ชั้น 2 และมีชานชาลาอยู่ชั้น 3  จะเป็นรูปแบบหลักของสถานียกระดับทุกสถานี ยกเว้นสถานีดาวคะนอง ซึ่งเป็นสถานีที่ขึ้นมาจากอุโมงค์แล้วอยู่ใกล้อุโมงค์ จึงทำให้ไม่สามารถยกระดับเป็น 3 ชั้น เต็มได้เหมือนสถานีอื่น  รูปแบบจะคล้ายกับ BTS และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนยกระดับทุกสถานี

รูปแบบทางวิ่งใต้ดินสายสีม่วงใต้

        แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ

        1. อุโมงค์คู่ห่าง มีระยะห่างระหว่างอุโมงค์ 6.30 เมตรขึ้นไป เป็นรูปแบบการก่อสร้างบนถนนทั่วไปซึ่งมีเขตทาง ประมาณ 23 เมตรขึ้นไป โดยจะเป็นรูปแบบอุโมงค์หลักของโครงการ 

        2. อุโมงค์คู่แคบ สามารถก่อสร้างอุโมงค์ชิดกันได้ถึง 1.50 เมตร โดยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงความหนาแน่นของดินระหว่างอุโมงค์ เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดโพรงจากอุโมงค์ข้างๆได้ในการก่อสร้าง เป็นรูปแบบก่อสร้างซึ่งเป็นแบบรองจะใช้บนถนนซึ่งมีเขตทาง ประมาณ 16 เมตรขึ้นไป

        3. อุโมงค์ซ้อน จะเป็นการก่อสร้างในพื้นที่เขตทางแคบ ซึ่งจะเป็นส่วนหลักที่ใช้ในเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่ง ใช้พื้นที่อุโมงค์เพียง 8-10 เมตร เพราะใช้พื้นที่เท่าตัวอุโมงค์ และเขตปลอดภัยอีก 2 เมตร  รูปแบบนี้จะใช้การซ้อนอุโมงค์ โดยแต่ละอุโมงค์จะต้องห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร


        ทางวิ่งยกระดับสายสีม่วงใต้

         มี 2 รูปแบบคือ

        1. ทางวิ่งทางคู่ จะเป็นรูปแบบทางทั่วไปของโครงการ ซึ่งเพื่อรองรับรถราง 2 ราง ให้รถไฟฟ้าสวนกันได้

        2. ทางวิ่ง 3 จะเป็นการก่อสร้างเฉพาะช่วงที่เป็น Pocket Track หรือจุดพักซ่อมบำรุงรถ ซึ่งจะคล้ายกับ Pocket Track สถานีสนามเป้า และ อารีย์ ของ BTS 

ซึ่งในโครงการนี้จะมี Pocket Track อยู่บริเวณ ระหว่างสถานีบางปะกอก และ สะพานพระราม 9

      สำหรับ การปรับทางขึ้น-ลงสถานี ในพื้นที่ชั้นในเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์  มีสถานีที่ต้องมีการปรับรูปแบบทางขึ้ง-ลงให้สอดคล้องกับพื้นที่โดยรอบทั้งหมด 2 สถานี คือ สถานีผ่านฟ้า และสถานีสามยอด

   แนวเส้นทาง  รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ

 แนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)   เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหารผ่านแยกเกียกกาย  ผ่านแยกบางกระบือ, แยกศรีย่าน   เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน โครงข่ายในเมือง ช่วงบางบำหรุ–มักกะสัน   เข้าสู่ถนนสามเสนผ่านอาคารรัฐสภาใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ  ถนนราชดำเนินกลาง เลียบคลองรอบกรุงไปเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร  สายสีส้มที่สถานีผ่านฟ้าลีลาศ  เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า  เข้าสู่ถนนประชาธิปก  ผ่านสี่แยกบ้านแขก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม  ช่วงหัวลำโพง–มหาชัย  ที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ และรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีวงเวียนใหญ่ ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ลอดใต้แยกมไหสวรรย์   จากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์  ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 ผ่านสามแยกพระประแดงและสิ้นสุดที่ครุใน 

        โดยจะสังเกตได้ว่าการวางแนววิ่งของรถไฟฟ้าสีม่วงใต้  จะผ่านแลนด์มาร์คหรือสถานที่สำคัญอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะรัฐสภาใหม่ และการวิ่งออกสู่กรุงเทพชั้นนอก ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆหลายแห่ง เพื่อกระจายการคมนาคมที่มักจะติดขัดบ่อยช่วงพระราม 2 ดาวคะนอง

        แม้ว่าล่าสุด จะมีข่าวการออกมาเรียกร้องทวงเงินค่าเวนคืนจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโครงการก่อนๆ แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าอีกเส้นทางที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้ไม่มากก็น้อย 

  




ขอบคุณที่มา : http://www.thailand-infra.com/ 


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง