รีเซต

ข่าวปลอมล่าสุด! ดีอี เตือนภัย 10 อันดับที่คนสนใจสูงสุด เช็กเลยอย่าหลงเชื่อ!

ข่าวปลอมล่าสุด! ดีอี เตือนภัย 10 อันดับที่คนสนใจสูงสุด เช็กเลยอย่าหลงเชื่อ!
TNN ช่อง16
16 พฤศจิกายน 2567 ( 13:11 )
37

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 8-14 พฤศจิกายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 851,065  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 773 ข้อความ


สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 735 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 27 ข้อความ Website จำนวน 10 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 1ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 286 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 112 เรื่อง 


ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย


กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 108 เรื่อง 


กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 73 เรื่อง


กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 29 เรื่อง 


กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 28 เรื่อง 


กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 48 เรื่อง


นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับสถาบันการเงินของรัฐ หน่วยงานรัฐ และนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการสินเชื่อ และโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงเรื่องภัยพิบัติ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเสียต่อทรัพย์สิน และข้อมูลส่วนบุคล สร้างความเข้าใจผิด วิตกกังวลได้ 


โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่


อันดับที่ 1 : เรื่อง ธนาคาร ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนกู้ปิดหนี้ วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท ไม่เช็กเครดิตบูโร


อันดับที่ 2 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กทางรัฐ ติจิทัล เป็นเพจประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับเงินดิจิทัลวอลเล็ต


อันดับที่ 3 : เรื่อง ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วงเงินสูงถึง 5,000,000 บาท


อันดับที่ 4 : เรื่อง รับสมัครตัวแทนจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ รายได้ 15,000 บาทต่อเดือน ลงทะเบียนผ่านเพจ THAI Communications


อันดับที่ 5 : เรื่อง ท่านอนคว่ำ ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน


อันดับที่ 6 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ ABERA ลดอาการบวม ลบเลือนริ้วรอย ป้องกันหนังตาตก


อันดับที่ 7 : เรื่อง ภาคเหนือตอนบนเฝ้าระวังน้ำท่วมเชิงเนินเขา และภาคใต้ฝนตกต่อเนื่อง จากเส้นทางพายุหยินซิ่ง


อันดับที่ 8 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ ONEO ป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสำหรับผู้ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืน ด้วยเทคโนโลยี Go-less ของสวิตเซอร์แลนด์


อันดับที่ 9 : เรื่อง ธนาคารออมสินเปิดสินเชื่อให้กู้ยืมเงินผ่านไลน์ ขั้นต่ำ 30,000 บาท รับเงินภายใน 5 นาที


อันดับที่ 10 : เรื่อง ผลไม้สีแดง และสีเหลือง มีเบต้าแคโรทีนช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน


“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินของรัฐ คือ ธ.ก.ส. ธ.ออมสิน ถึง 4 อันดับ รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ อาจทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว 


สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ธนาคาร ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนกู้ปิดหนี้ วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท ไม่เช็กเครดิตบูโร” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอีประสานงานร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง ตรวจสอบและชี้แจงว่า มิจฉาชีพได้จัดทำสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กู้เงินดังกล่าวขึ้นมา และแอบอ้างนำโลโก้ของ ธ.ก.ส. ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยทาง ธ.ก.ส. ไม่มีผลิตภัณฑ์การกู้เงินตามเงื่อนไขดังกล่าวใด ๆ ทั้งสิ้น ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนที่สนใจข้อมูลข่าวสารจาก ธ.ก.ส. สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.baac.or.th หรือโทร. 0-2555-0555


ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “เพจเฟซบุ๊กทางรัฐ ติจิทัล เป็นเพจประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับเงินดิจิทัลวอลเล็ต” โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ และ DGA ช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นทางการคือ

.

1. เว็บไซต์ DGA (https://www.dga.or.th/)

2. เว็บไซต์ ทางรัฐ (ทางรัhttp://xn--h3c.com/)

3. Line Official : DGAThailand (@dgathailand) ( https://lin.ee/PJzPxQm)

4. Facebook : DGAThailand (https://www.facebook.com/DGAThailand)

5. YouTube : DGAThailand (https://www.youtube.com/@DGAThailand)

6. TikTok : DGAThailand (https://www.tiktok.com/@dgathailand)

7. Instagram : DGAThailand (https://www.instagram.com/dgathailand/)

8. X : DGAThailand (https://x.com/DGAThailand)

9. เบอร์โทร : 02-6126060

10. อีเมล : contact@dga.or.th

โดยช่องทางอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้นั้นไม่ใช่ช่องทางการติดต่อสื่อสารของ สพร. อย่างเป็นทางการ หากพบเจอช่องทางอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้นับว่าเป็นช่องทางปลอมที่มิจฉาชีพจัดทำขึ้นมา


อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด



ข่าวที่เกี่ยวข้อง